ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ : "สุปรีดา" เผย สสส.ทำตามตัวชี้วัดทุกอย่าง ป้ององค์กรสาธารณประโยชน์ ขออย่ามองเป็นผู้ร้ายอย่างเดียว ส่วนประเด็นที่สังคมยังสงสัย ต้องจัดการให้เรียบร้อย การแก้กฎหมายอาจเป็นวิธีหนึ่ง แต่ยังไม่มีข้อสรุป ขึ้นอยู่กับ คกก.ที่ รมว.สธ.แต่งตั้งพิจารณาอีกครั้ง

ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. รักษาการแทนผู้จัดการ สสส. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการ สสส. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกองทุน กำหนดแผนดำเนินงานในแต่ละปี รวมถึงกำหนดตัวชี้วัดต่างๆ ออกมา ซึ่งล่าสุด จากตัวชี้วัดทั้งหมด 113 ตัวชี้วัด แผนงานที่ สสส.อนุมัติ สามารถตอบโจทย์ได้มากถึง 105 ตัวชี้วัด หรือคิดเป็นมากกว่า 93% และยืนยันว่า สสส.ได้ทำตามที่คณะกรรมการอนุมัติทุกอย่าง

สำหรับการกำหนดความสำคัญแต่ละโครงการ สสส.ได้กำหนดตามภาระโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพลำดับต้นๆ มาวิเคราะห์ ก่อนกำหนดเป็นแผนงาน ซึ่งหากสำคัญน้อย ก็จะไม่ถูกเลือก นอกจากนี้ ยังมีงานวิชาการรองรับ เพื่อตอบว่าทำไม สสส.ถึงต้องทำโครงการต่างๆ เหล่านี้

“ยกตัวอย่างเรื่องสุขภาวะเชิงพื้นที่ หรือสุขภาพชุมชนนั้น มีงานวิชาการระบุว่าหากชุมชนสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดี ชุมชนก็จะมีสุขภาพที่ดีตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ สสส.จึงลงไปทำงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน หรืออย่างการพัฒนากลไกเฝ้าระวังด้านสื่อก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงอยากให้มองภาพรวม มากกว่ามองจุดใดจุดหนึ่ง” รองผู้จัดการ สสส.กล่าว

ทพ.สุปรีดา กล่าวอีกว่า ส่วนที่ยังคลุมเครือ เช่น ขอบเขตนิยามคำว่าสุขภาพนั้น สสส.ยินดีหาจุดที่ลงตัว ด้วยการนำไปปรับแก้นิยามอีกครั้ง ส่วนจะไปไกลไปถึงแก้กฎหมายหรือไม่ คงต้องอยู่ที่กรรมการชุดที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข แต่งตั้งพิจารณาอีกครั้ง

นอกจากนี้ ทพ.สุปรีดา กล่าวอีกว่า สสส. พร้อมให้มีเวทีวิชาการ เชิญคนนอกมาพูดคุยถึงข้อดี-ข้อเสีย ขององค์กร รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อไป เพื่อให้ได้แนวทางที่ดีที่สุด

“ส่วนประเด็นที่สังคมยังสงสัย ต้องจัดการให้เรียบร้อย การแก้กฎหมายอาจเป็นวิธีหนึ่ง แต่ในข้อสรุปที่ประชุมร่วมกับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ก็ยังไม่ได้ย้ำว่าต้องแก้กฎหมาย คือมันเป็นไปได้ แต่ยังไม่ตายตัว” ทพ.สุปรีดากล่าว

รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรมพูดชัดว่า การจะแก้ พ.ร.บ. โดยเปลี่ยนรูปแบบให้เอางบประมาณ สสส.เข้างบประมาณแผ่นดิน หรือเอาเข้าสภานั้น ไม่ใช่ประเด็น แต่ทำไงให้วิธีพวกนี้รัดกุมแค่นั้นเอง ซึ่งทาง สสส.ก็เห็นด้วย

ส่วนที่หลายคนมองว่า มีการนำเงิน สสส.ไปสนับสนุนมูลนิธิ ที่มีประธานมูลนิธิหลายคนอยู่ในคณะกรรมการนั้น ขอให้มองว่า เงินที่จ่ายลงไปเป็นการนำไปใช้เพื่อสาธารณะ และไม่อยากให้มองว่า องค์กรสาธารณประโยชน์เป็นผู้ร้ายอย่างเดียวเสมอไป

ที่มา: www.posttoday.com