ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นำระบบคอมพิวเตอร์พิจารณาคำขออนุญาต การแจ้งนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพล่วงหน้าอัตโนมัติ ลดระยะเวลาในการพิจารณาได้ผลภายใน 3 วินาที ส่วนระบบการจดแจ้งเครื่องสำอางอัตโนมัติ ได้ผลภายใน 3 วินาทีเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องแจ้งรายละเอียดครบถ้วนถูกต้อง

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปรับปรุงบริการขออนุญาตให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โปร่งใส  ซึ่งขณะนี้ อย. ได้พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ใช้ในการพิจารณาคำขออนุญาตแบบอัตโนมัติ (Automated System Licensing) ขณะนี้ดำเนินการได้แล้ว ในการแจ้งนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพล่วงหน้าอัตโนมัติ ( Auto LPI) เพื่อให้ผู้นำเข้าได้เลขใบรับแจ้งไปใช้ในการทำใบขนสินค้าขาเข้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยส่งข้อมูลการนำเข้าล่วงหน้าทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้ อย.ออกเลขใบรับแจ้ง นำไปใช้ในการทำใบขนสินค้าขาเข้าที่กรมศุลกากร ลดระยะเวลาในการพิจารณาเหลือเพียง 3 วินาที ส่วนระบบการจดแจ้งเครื่องสำอางอัตโนมัติ สามารถรับใบรับแจ้งภายใน 3 วินาทีเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องส่งรายละเอียดคำขอจดแจ้งเข้ามาได้ครบถ้วน ยกเว้นเครื่องสำอางที่มีความเสี่ยงสูง

ในส่วนผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ อยู่ในระหว่างกระบวนการพัฒนาระบบ เพื่อให้สามารถทำงานแบบอัตโนมัติได้จริง ทั้งนี้ กระบวนการที่ทำงานในระบบนี้ต้องไม่มีความซับซ้อนมากนัก หากเป็นการประเมินผลิตภัณฑ์โดยผู้เชี่ยวชาญจะไม่สามารถทำได้ด้วยระบบรูปแบบนี้

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ระบบนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพล่วงหน้าอัตโนมัติ จะกลั่นกรองเบื้องต้น เมื่อผู้นำเข้าบันทึกข้อมูลสินค้าที่จะนำเข้า ระบบจะมีการตรวจสอบประวัติของสินค้าและผู้นำเข้า ทั้งในส่วนของความไม่ปลอดภัยและการกระทำผิดกฎหมาย เมื่อพบความเสี่ยงสินค้านั้นต้องผ่านการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ อย. ร่วมกับศุลกากร  หากพบว่าสินค้าที่นำเข้าไม่ตรงกับฐานข้อมูลของ อย. หรือมีความเสี่ยงในเรื่องของคุณภาพมาตรฐาน หรือความปลอดภัย เจ้าหน้าที่จะทำการยึด อายัด กักสินค้ารอการตรวจพิสูจน์  เมื่อผลวิเคราะห์มีคุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามข้อกำหนด ก็จะทำการถอนอายัดให้นำไปจำหน่ายได้ แต่หากพบปัญหาคุณภาพมาตรฐานจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

ส่วนระบบการจดแจ้งเครื่องสำอาง ระบบคอมพิวเตอร์จะตรวจสอบว่า มีสารส่วนประกอบอะไรบ้าง มีสารที่ห้ามใช้หรือมีข้อกำหนดในการใช้ รวมทั้งปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ และตรวจสอบคำห้ามใช้เป็นส่วนของชื่อเครื่องสำอาง ถ้าพบจะไม่รับแจ้ง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งรายละเอียดด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ตามคำแนะนำในคู่มืออย่างเคร่งครัด หากแจ้งรายละเอียดไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามข้อเท็จจริง จะต้องรับผิดชอบในปัญหาที่จะเกิดขึ้นและอาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินการขั้นตอนอื่นๆ ต่อไป กรณีข้อมูลที่แจ้งไว้ไม่ถูกต้อง หรือประสงค์จะปรับสูตรของผลิตภัณฑ์โดยยังคงใช้ชื่อเดิม ทำได้ด้วยการทำหนังสือแจ้งขอยกเลิกใบรับแจ้งเดิมและยื่นคำขอจดแจ้งใหม่