ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อเขียนจาก นพ.ธีระ วรธนารัตน์ แสดงความคิดเห็นต่อมาตรการจัดการเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของ รพ.เอกชน ที่มีเสียงเรียกร้องให้แก้ปัญหาในประเด็นค่ารักษาพยาบาลแพงเกินควร โดยระบุว่า “รัฐควรจัดการระบบเวชภัณฑ์หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศให้มีราคาเป็นธรรม มิใช่ให้เป็นช่องทางที่ รพ.เอกชนหวังฟันกำไรจนเกินควร กำไรได้แต่ควรสมน้ำสมเนื้อ พูดคุยตกลงกันให้เกิดฉันทามติ สิ่งที่ต้องทำแต่รัฐไม่จริงจังและไม่จริงใจคือ เรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินครับ”

1.คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อครึ่งปีก่อน ดูคล้ายจะเป็นปาหี่ของนักการเมืองและนักบริหารหรือไม่ เพราะกรรมการหลายคนไม่ทราบข้อมูลและความคืบหน้าอะไรเลยนอกจากผ่านทางข่าวของสื่อมวลชน

2.การปิดฉลากราคายาไม่ใช่เรื่องด่วนหรือเรื่องสำคัญที่จะแก้ไขและบรรเทาปัญหา

3.เรื่องที่ประชาชนกังวลคือ เวลาฉุกเฉินแล้วไปรักษาเอกชนแต่ถูกบังคับลงนามรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ทั้งๆ ที่กลไกรัฐควรช่วยดูแล แต่เอกชนเกี่ยงเรื่องราคากลางที่ตั้งไว้ว่าต่ำไป และอ้างว่าต้องลงทุนด้านบุคลากร อุปกรณ์ และตึก ทั้งๆ ที่บุคลากรส่วนใหญ่รัฐเป็นผู้ลงทุนผลิต แม้บางส่วนจะเรียนจากเอกชนบ้าง แต่ต้องไม่ลืมว่าประชาชนทุกหมู่เหล่าก็ล้วนเสียสละร่างกายให้ร่ำเรียน เหตุใดเอกชนจึงไม่ช่วยลดการคำนึงถึงกำไรยามคนเจ็บป่วยฉุกเฉินบ้าง

4.ราคาการผ่าตัดและหัตถการราคาแพงต่างๆ ที่สำแดงในเว็บไซต์ที่กรม สบส.จัดทำนั้นค่อนข้างฉาบฉวย มิได้ช่วยให้ประชาชนเข้าใจหรือช่วยในการตัดสินใจได้เลย เพราะพิสัยที่กว้าง และรายละเอียดไม่ชัดเจน มีศัพท์เทคนิคที่บ่งถึงความไม่ใส่ใจที่จะสื่อแก่สาธารณะ

5.รัฐควรแสดงความจริงใจต่อประชาชน โดยชี้แจงให้สาธารณะได้ทราบว่ากลไกที่เคยตั้งนั้นไม่ได้ทำงานอย่างมีส่วนร่วมจริง และควรแจ้งว่าสถานการณ์ปัจจุบันใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรและจะได้รับการตรวจสอบจากประชาชนอย่างไร

6.รัฐควรกำหนดนโยบายให้เก็บภาษีเพิ่มเติมจากสถานพยาบาลเอกชน แยกจากที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ด้วยเหตุผลข้างต้น เพื่อนำมาช่วยพัฒนาระบบสุขภาพภาครัฐ นอกจากนี้ยังนำมาพัฒนาระบบสาธารณสุขที่รับความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจรักษาพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากผลกระทบจากโรคเมอร์ส ที่ทำให้ระบบสาธารณสุขทั้งประเทศต้องเสียทรัพยากรมากมายเพื่อจัดการโรคติดต่อนั้น

7.การคุมราคาค่ารักษาพยาบาลนั้นเป็นไปได้ยากและไม่น่ากระทำ ทั้งนี้เพราะวิชาชีพสุขภาพอาศัยทักษะเฉพาะบุคคล และแปรผันตามประสบการณ์ คนเราย่อมอยากไปรับการดูแลรักษาจากคนที่เก่งหรือประสบการณ์สูง รัฐควรช่วยได้เพียงการจัดการระบบเวชภัณฑ์หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศให้มีราคาเป็นธรรม มิใช่ให้เป็นช่องทางที่ รพ.เอกชนหวังฟันกำไรจนเกินควร กำไรได้แต่ควรสมน้ำสมเนื้อ พูดคุยตกลงกันให้เกิดฉันทามติ สิ่งที่ต้องทำแต่รัฐไม่จริงจังและไม่จริงใจคือ เรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินครับ

การจัดการระบบดูแลสุขภาพประชาชน มีทั้งฉุกเฉิน และไม่ฉุกเฉิน

ความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตจัดเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของประเทศที่ใส่ใจคุณภาพชีวิตของประชากร

ฉุกเฉินควรได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วและได้มาตรฐาน เพื่อช่วยรักษาชีวิตหรือลดโอกาสพิการถาวรจากภาวะต่างๆ

ระบบทุนนิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเน้นให้ทุกคนมองทุกอย่างเป็นการแข่งขัน ตั้งแต่ตัวประชาชนเอง รวมไปถึงธุรกิจอุตสาหกรรม และไม่เว้นแม้แต่คนบริหารประเทศ จนมองทุกสิ่งเป็นเพียงเม็ดเงินที่ได้และเสีย โดยมิได้มองเรื่องมนุษยธรรม และผลที่ได้จากชีวิตที่รักษาไว้ได้ซึ่งจะตอบแทนประเทศกลับมาในระยะยาว ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และสังคม

เรื่องบริการฉุกเฉินต้องได้รับการใส่ใจและแก้ไขเร่งด่วนโดยใช้การมีส่วนร่วมของประชาชน

จะเดินสู่ทางตันและมืดมิด หากใช้มุมมองเม็ดเงินแบบทุนนิยมนำการพัฒนาแบบที่ทำตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน...

บทพิสูจน์ธรรมาภิบาลของคนบริหารประเทศ!!!

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย