ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เดินหน้า “หน่วยงานกลางบริหารจัดการทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลประชาชน” จัดทำฐานข้อมูลทะเบียนผู้มีสิทธิใกล้ครบทั้งประเทศแล้ว เหลือเพียง 4 แสนคน รอนำส่งข้อมูลเพิ่มเติม หลัง ครม.อนุมัติ พ.ย. 58 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ แถมคุ้มครองประชาชนรับการดูแลและรักษาพยาบาลต่อเนื่องแม้เปลี่ยนสิทธิ์     

ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช

ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2546 เพื่อช่วยให้คนไทยส่วนใหญ่กว่า 48 ล้านคน ซึ่งยังไม่มีหลักประกันสุขภาพมีสิทธิการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมและทั่วถึง แต่ด้วยสิทธิการรักษาพยาบาลในประเทศไทยที่แยกการบริหารเป็นหลายกองทุนรักษาพยาบาล อาทิ กองทุนสวัสดิการข้าราชการดูแลผู้มีสิทธิประมาณ 5 ล้านคน กองทุนประกันสังคมดูแลผู้มีสิทธิประมาณ 10 ล้านคน และกองทุนรักษาพยาบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดูแลผู้มีสิทธิประมาณ 6 แสนคน รวมถึงกองทุนรักษาพยาบาลอื่น อย่าง กองทุนรักษาพยาบาลครู รัฐวิสาหกิจ และองค์การอิสระ เป็นต้น ไม่เพียงแต่ส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องสิทธิการรักษาพยาบาลในช่วงการเปลี่ยนและย้ายสิทธิ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่อง แต่ยังขาดการบูรณาการงานด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 จึงมีมติให้ สปสช.ทำหน้าที่เป็น “หน่วยงานกลางในการบริหารจัดการทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน” (National Beneficiary Registration Center) เนื่องจาก สปสช.เป็นหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ดูแลสิทธิรักษาพยาบาลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งนอกจากเป็นระบบใหญ่ที่สุดในประเทศแล้ว ยังเป็นระบบที่คอยรองรับสิทธิรักษาพยาบาลกรณีผู้ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆพร้อมกันนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง “คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาระบบทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน” โดยให้เลขาธิการ สปสช.เป็นประธาน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการงานด้านทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลที่เป็นระบบเดียวกัน

ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า จากมติ ครม.ดังกล่าวนี้ ยังได้ระบุให้หน่วยงานซึ่งดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลทุกหน่วยงานให้จัดส่งข้อมูลผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลของบุคลากรในหน่วยงานรวมถึงผู้ใช้สิทธิร่วมให้กับ สปสช. เพื่อที่จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลในการบริหารจัดการทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชนเพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ สปสช.ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้ทยอยจัดส่งข้อมูลทะเบียนผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลภายใต้กำกับดูแลให้กับ สปสช.แล้ว เหลือเพียงข้อมูลผู้มีสิทธิอีกเพียง 400,000 คนเท่านั้น สปสช.จะสามารถรวบรวมทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลจากทุกหน่วยงานครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ จำนวน 65.7 ล้านคน     

“นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งการจัดฐานข้อมูลทะเบียนผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลคนไทยทั้งประเทศนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาระบบที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในด้านการคุ้มครองสิทธิการรักษาพยาบาลที่ต่อเนื่องให้กับประชาชน การบูรณาการการเข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างการให้วัคซีนเด็กและกลุ่มเสี่ยง และการรองรับระบบสิทธิรักษาพยาบาลในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน รวมไปถึงการสร้างความชัดเจนด้านฐานข้อมูลทะเบียนให้กับหน่วยบริการเพื่อเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว