ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.ไทย จับมือ รมว.สาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น ชวนผู้นำสุขภาพโลกร่วมผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประชาคมโลก ในที่ประชุมนานาชาติที่ญี่ปุ่น ชี้หลังดำเนินการ 14 ปี ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพกลุ่มผู้รอพิสูจน์สัญชาติ ชาวต่างด้าว ผู้สูงอายุ ผู้ที่อาศัยในถิ่นทุรกันดารและแนวชายแดน ประมาณกว่า 7 แสนคน

เมื่อวันที่ 16-17 ธ.ค.58 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงปาฐกถาในการประชุมนานาชาติว่า ด้วยหลักประกันสุขภาพในยุคใหม่ของการพัฒนา เพื่อมุ่งไปสู่การสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืนและตอบโต้ต่อความท้าทายด้านสุขภาพ (International Conference on Universal Health Coverage in the New Development Era: Toward Building Resilient and Sustainable Health Systems) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เกี่ยวกับการสร้างหลักประกันสุขภาพของไทย ภายหลังการปาฐกถาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการประเทศญี่ปุ่น

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ประเทศไทยดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมา 14 ปี โดยนอกเหนือจากพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างถ้วนหน้าของประชาชนไทยแล้ว รัฐบาลไทยได้ดำเนินการใน 5 ประเด็นหลักๆ คือ 

1.เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้รอพิสูจน์สัญชาติ แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม ผู้สูงอายุ ผู้ที่อาศัยในถิ่นทุรกันดารและแนวชายแดน รวมประมาณ 700,000 คน นอกจากนี้ ยังได้เร่งดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและครอบครัวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอีกประมาณ 4 ล้านคนที่ยังไม่มีสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุข 

2.ด้านความเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ของสามกองทุนประกันสุขภาพซึ่งอยู่ระหว่างหาแนวทางบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

3.ด้านความยั่งยืนของระบบการเงินการคลัง ขณะนี้กำลังพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพไทยให้บรรลุเป้าหมายของการมีระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืน เพียงพอ เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ 

4.ด้านการยอมรับและคุณภาพของการให้บริการ ได้ดำเนินการพัฒนาให้โรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศ ผ่านการการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล โดยเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

และ 5.การสร้างระบบอภิบาลที่ดี ได้เปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์ การบริหารหลักประกันสุขภาพอย่างกว้างขวางปีละครั้ง โดยประเทศไทยยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้การสนับสนุนการสร้างหลักประกันสุขภาพ ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South Collaboration) องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ทุกประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)

ทั้งนี้ การปาฐกถาครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้นำด้านสุขภาพโลกอาทิ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ประธาน JICA ผู้อำนวยการบริหารกองทุนโลกเพื่อการต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ผู้อำนวยการอาวุโสด้านสุขภาพ โภชนาการและประชากรของธนาคารโลก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น และผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก โดยรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขไทยได้ขอเชิญชวนให้ผู้นำระดับโลกที่ร่วมประชุมร่วมกันผลักดันการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาคมโลกด้วย