ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ : 30 องค์กรข้าราชการ-สหภาพพยาบาล ร้อง สนช. แก้ปัญหาเงินเดือนเหลื่อมล้ำ วอน คสช. ใช้ ม.44 ช่วย เรียกร้อง ยกเลิกตำแหน่ง ขรก.แบบแท่ง ปรับ พนง.ราชการเป็น ขรก. รัฐจัดระบบเงินเดือนและสวัสดิการลูกจ้างภาครัฐทุกประเภทให้ได้รับความเป็นธรรม ด้านสหภาพพยาบาลร้องให้รัฐตั้งกองทุนเงินทดแทนดูแลกำลังภาครัฐหากได้รับบาดเจ็บหรือประสบอันตรายจากการทำงานเหมือนภาคเอกชน

วันที่ 18 ธ.ค. เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า นางทัศนีย์ บัวคำ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย พร้อมด้วยองค์กรเครือข่ายข้าราชการพลเรือนไทย รวม 30 องค์กร ได้ยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนข้าราชการพลเรือน โดยมีนางวรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. เป็นผู้รับเรื่อง

นางทัศนีย์ กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนของข้าราชการที่มีตำแหน่งเท่ากันเมื่อนำมาเทียบเคียงกัน และในกลุ่มข้าราชการที่มีคุณวุฒิสูงกว่าหรือมีปริญญา แต่กลับมีเพดานเงินเดือนเต็มขั้นที่ต่ำกว่าข้าราชการที่มีวุฒิการศึกษาไม่จบปริญญา มีผลมาจากการนำระบบการประเมินผลการปฏิบัติงาน ที่เรียกว่า “ระบบแท่ง” มาแทนที่ระบบเดิมที่เรียกว่า “ระบบซี” ทำให้เกิดปัญหาส่งผลกระทบบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งช่วงชิงตำแหน่งและผลประโยชน์

ดังนั้น จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลดังนี้

1.ให้รัฐบาลสั่งการ ก.พ. ดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 20 เม.ย. 2558 อย่างเร่งด่วน

2.ให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระว่าด้วยค่าตอบแทนภาครัฐ

3.ให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะทำงานเครือข่ายข้าราชการพลเรือนไทย

4.ให้ คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แก้ไขปัญหา

5.ให้ยกเลิกระบบการกำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนแบบแท่ง

6.ให้รัฐปรับเปลี่ยนพนักงานราชการเป็นข้าราชการ

และ 7.ให้รัฐจัดระบบเงินเดือนและสวัสดิการลูกจ้างภาครัฐทุกประเภทให้ได้รับความเป็นธรรม

นอกจากนี้ ทางสมาพันธ์ฯ ขอเสนอต่อ สนช. ให้สนับสนุนตรา พ.ร.บ.ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างค่าตอบแทน เงินเดือนของข้าราชการทุกประเภทให้ได้รับความเป็นธรรม และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ด้าน น.ส.มัลลิกา ลุนจักร ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอให้รัฐจัดให้ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐทุกประเภทได้รับการคุ้มครองเหมือนที่ลูกจ้างภาคเอกชนมีกองทุนเงินทดแทน ที่สำนักงานประกันสังคมดูแลอยู่ ในกรณีที่เจ็บป่วยและประสบอันตรายจากการทำงานให้เสมอภาคกับภาคเอกชน และสนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขมีการบริหารจัดการในระบบวิชาชีพที่แยกออกจาก ก.พ. โดยสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขและบุคลากร พ.ศ. ... ที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังจัดทำอยู่

ที่มา: www.posttoday.com