ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 เตรียมเคลื่อน 5 วาระสุขภาพที่กำลังคุกคามสุขภาพคนไทย เชื้อแบคทีเรียดื้อยา สุขภาวะชาวนา ระบบสุขภาพเขตเมือง ลดเค็ม จัดการปัญหาหมอกควัน เร่งผลักดันทุกภาคส่วนร่วมมือขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ

นายเจษฎา มิ่งสมร ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 8 พ.ศ.2558 กล่าวว่า เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคม 2558 มีระเบียบวาระที่จะเข้าสู่การประชุม 5 ระเบียบวาระ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่กำลังคุกคามสุขภาพของคนไทยอยู่ในเวลานี้ ประกอบด้วย 1) วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ 2) สุขภาวะชาวนา: การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวนา 3) ระบบสุขภาพเขตเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม 4) นโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ และ 5) การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นมติเดิมที่เคยผ่านเวทีสมัชชาฯ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ไปแล้ว แต่นำกลับมาเพื่อทบทวนและปรับปรุงให้การขับเคลื่อนมติมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ เช่นเดียวกับในปีที่ผ่านๆ มาแล้ว ในปีนี้ทาง คจ.สช.ยังมุ่งเน้นความสำคัญกับการผลักดันมติสมัชชาสุขภาพในปีที่ผ่านมาทั้ง 7 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2557 ไปสู่การปฏิบัติจริง

“ทั้ง 5 ระเบียบวาระข้างต้น เป็นประเด็นที่กำลังคุกคามสุขภาพคนไทย ซึ่งจำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะที่ทุกฝ่ายร่วมกันจัดทำ ซึ่งนอกจากการพิจารณาระเบียบวาระต่าง ๆ แล้ว  เรายังมีสิ่งที่น่าสนใจซึ่งแตกต่างจากปีที่ผ่านมา  คือ การให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ    โดยได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ซึ่งมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน” นายเจษฎา กล่าว

ในวันสุดท้ายของการจัดงาน ยังมีเวทีสาธารณะ ‘หยุด! มองระบบสุขภาพ/สุขภาวะไทย’ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีอีกด้วย  

ทั้งนี้ ภายหลังเวทีสมัชชาฯ จบลง ระเบียบวาระที่ได้รับฉันทมติจะถูกเสนอให้ความเห็นชอบโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นประธาน เพื่อส่งต่อให้กับคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในการผลักดันให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป

“นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไทย หากคนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดีจะกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ดังนั้น สุขภาพจึงเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญของการพัฒนาประเทศไทยต่อไปในอนาคต” นายเจษฎา กล่าว