ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ทพ.ไพศาล” นำทีม Well Mixed Team ลงเลือกตั้งทันตแพทยสภา วาระที่ 8 ประกาศวิสัยทัศน์ “การแพทย์ก้าวไกล ประชาไทยสุขภาพช่องปากดี” ชู 5 นโยบาย พัฒนาวิชาชีพทันตแพทย์ ยกระดับมาตรฐานคลินิกทันตกรรมทั้งรัฐ/เอกชน หนุนผลิตทันตแพทย์เฉพาะทางเพิ่ม ลดความขัดแย้งผู้ให้บริการ-ผู้รับริการ คุ้มครองประชาชน พร้อมผลักดันนโยบายทันตกรรมระดับชาติ รับเปิดเสรีอาเซียน รุกส่งเสริมป้องกันโรคช่องปากลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ ลดความเหลื่อมล้ำสิทธิประโยชน์ทันตกรรมระบบประกันสุขภาพ พร้อมขอคะแนนเสียงผู้สมัครหมายเลข 2-21 เป็นกรรมการทันตแพทยสภายกทีม เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนนโยบายตามที่หาเสียงไว้       

ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ ประธานราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย และอุปนายกทันตแพทยสภา ในฐานะหัวหน้าทีมลงสมัครรับเลือกตั้งกรรมการทันตแพทยสภา วาระที่ 8 กล่าวถึงการลงรับเลือกตั้งในครั้งนี้ว่า ทันตแพทยสภามีบทบาทหน้าที่ดูแลทันตแพทยสภาและคุ้มครองประชาชนในการรับบริการทันตกรรม ซึ่งตนเองมีบทบาทเป็นกรรมการทันตแพทยสภาหลายสมัย และเป็นประธานราชวิทยาลัยทันตแพทย์ฯ มองว่า แม้ที่ผ่านมาทันตแพทยสภาจะทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีบางเรื่องที่ต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงมากขึ้น ดังนั้นจึงได้มีการพูดคุยกันและรวมกลุ่มผู้มีแนวคิดคล้ายกัน โดยรวมเป็นทีมลงรับสมัครรับเลือกตั้งทันตแพทยสภาครั้งนี้ โดยใช้ชื่อทีมว่า Well Mixed Team ภายใต้วิสัยทัศน์ “การแพทย์ก้าวไกล ประชาไทยมีสุขภาพช่องปากดี”

ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กล่าวว่า สาเหตุที่ใช้ชื่อทีม Well Mixed Team เนื่องจากผู้สมัครในทีมเป็นสมาชิกทันตแพทยสภาที่มาจากหลากหลายสถาบัน ทั้งที่เป็นอาจารย์แพทย์ นักวิชาการ และบางคนทำงานในภาคเอกชน ขณะเดียวกันยังมีอายุที่หลากหลาย ทำให้มีความคิดที่หลากหลายและแตกต่าง มองสถานการณ์และบทบาทที่เกี่ยวข้องกับทันตแพทยสภาได้อย่างรอบด้าน ซึ่งจะช่วยในการทำงานและผลักดันนโยบายสำคัญของทันตแพทยสภาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทีม Well Mixed Team เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง หมายเลข 2-21 รวม 20 คน  ตามจำนวนการประกาศรับเลือกตั้งกรรมการทันตแพทยสภาในครั้งนี้ ที่มีสัดส่วนเท่ากับกรรมการแต่งตั้งโดยตำแหน่ง    

ทั้งนี้ทีม Well Mixed Team มี 5 นโยบายที่นำเสนอและจะผลักดันหากได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่กรรมการทันตแพทยสภา คือ

1.พัฒนาคลินิกทันตกรรม ปัจจุบันเรื่องมาตรฐานคลินิกทันตกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากประชาชนที่เข้ารับบริการส่วนใหญ่คาดหวังว่าจะได้รับบริการที่ดีและได้มาตรฐาน จึงต้องมีการพัฒนาคลินิกทันตกรรมให้ได้มาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งที่ผ่านมาทันตแพทยสภาได้จัดทำเรื่องความปลอดภัยในการรับบริการ (dental safety gold) แต่ยังไม่มีการจัดทำในเรื่องมาตรฐานคลินิกทันตกรรม ที่ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความปลอดภัยและมั่นใจให้กับประชาชนในการรับบริการ แต่ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานของคลินิกทันตกรรม โดยในช่วงเริ่มต้นจะใช้มาตรการเชิงบวกเพื่อดึงให้คลินิกทันตกรรมทั้งของรัฐและเอกชนเข้าร่วม

2.ทำนโยบายเชิงรุกในเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพทันตแพทย์ เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนไข้และทันตแพทย์นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการฟ้องร้องทันตแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทันตแพทยสภาเป็นหน่วยงานที่อยู่ระหว่างประชาชนและทันตแพทย์ จึงต้องให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมีทั้งความไม่เข้าใจระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ ความคลาดเคลื่อนการรักษา ความคาดหวังของประชาชนรับบริการ แต่ผลที่ตามมาไม่เป็นไปตามคาดหวังไว้ ขณะเดียวกันทันตแพทย์เองอาจไม่ได้ให้ข้อมูลที่เพียงพอ หรือให้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความคาดหวังที่สูงเกินไป ดังนั้นจึงคิดว่าน่าจะทำนโยบายเชิงรุกเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพทันตแพทย์ เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจการบริการที่จะช่วยลดความขัดแย้งนี้ลงได้ รวมถึงปัญหาร้องเรียนต่างๆ ที่เข้ามายังทันตแพทยสภา

ในการดำเนินนโยบายนี้ จะมีการนำข้อมูลข้อร้องเรียนต่างๆ มาวิเคราะห์ปัญหาและสร้างระบบกลั่นกรองเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนและทันตแพทย์ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้   

3.สนับสนุนการผลิตทันตแพทย์เฉพาะทาง และดูแลการผลิตทันตแพทย์บัณฑิตให้เหมาะสม ปัจจุบันเรามีกำลังผลิตทันตแพทย์อยู่ที่ประมาณ 1,000 คนต่อปี และอนาคตอันใกล้จะได้สัดส่วนทันตแพทย์ต่อประชากรตามมาตรฐาน คือ 1 : 5,000 คน แต่ขณะนี้ยังมีปัญหาการกระจายตัว โดยในจำนวนทันตแพทย์ทั่วประเทศ 14,000 คน ครึ่งหนึ่งให้บริการในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยอีกครึ่งหนึ่งกระจายบริการอยู่ในต่างจังหวัดๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนทันตแพทย์ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล

หากเป็นเช่นนี้แม้ว่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตทันตแพทย์เท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงมีนโยบายเพื่อให้มีการกระจายทันตแพทย์เพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ได้มีโอกาสเรียนทันตแพทย์เพื่อกลับไปทำงานในพื้นที่ตนเอง โดยให้คณะทันตแพทยศาสตร์ที่เปิดใหม่ในต่างจังหวัด อย่าง มหาวิทยาลัยสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยพะเยา ดำเนินนโยบายนี้ จะทำให้มีทันตแพทย์ทำงานในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ทันตแพทย์ศึกษาต่อเพิ่มขึ้น โดยในจำนวนทันตแพทย์ทั่วประเทศ 14,000 คน มีทันตแพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตรเพียง 1,500 คน และผู้ที่ศึกษาปริญญาโทไม่ใช้วุฒิบัตรอีก 3,000-4,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้นจะสนับสนุนให้มีการเรียนต่อทันตแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น อาทิ การจัดฟัน ศัลยกรรมช่องปาก การใส่ฟันปลอม เป็นต้น เพื่อพัฒนาวิชาชีพทันตแพทย์เฉพาะทาง และประชาชนก็ได้ประโยชน์ในการบริการ 

4.สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของทันตแพทย์ โดยมีการจัดเครือข่ายอบรมให้ความรู้ทันตกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพการให้บริการกับประชาชน เนื่องจากงานทันตกรรมมีการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทันตแพทย์จึงควรมีการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี

5.ผลักดันนโยบายทันตสุขภาพของประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพปากที่ดี โดยมีนโยบายย่อยที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ เตรียมความพร้อมด้านทันตกรรมต่อการเปิดนโยบายการเปิดเสรีอาเซียนซึ่งจะเริ่มในปีหน้านี้, การลดความเหลื่อมล้ำในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, ผลักดันนโยบายเชิงรุกในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพในช่องปาก ที่ไม่เพียงแต่ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในงานบริการทันตกรรม แต่ยังลดโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาช่องปากได้

การดึงกำลังทันตแพทย์ในภาคเอกชนมาช่วยสนับสนุนการบริการในระบบสุขภาพภาครัฐ เน้นรูปแบบการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน, การนำบริการทันตกรรมสู่งานบริการปฐมภูมิ โดยต้องมีการจัดให้อยู่ใน Service plan ของกระทรวงสาธารณสุข, การพัฒนากำลังคนงานด้านทันตกรรม ทั้งทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ และทันตภิบาล และการรุกงานคุ้มครองประชาชนจากบริการทันตกรรมเถื่อน ทั้งการปราบปรามและให้ความรู้กับประชาชน 

ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า จากนโยบายต่างๆ ข้างต้นนี้ จึงได้ทำการหาเสียงเลือกตั้งยกทีม ไม่ใช่ตัวบุคคล เพราะนอกจากกรรมการทันตแพทยสภาที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 20 คนแล้ว ยังมีกรรมการทันตแพทยสภาที่แต่งตั้งโดยตำแหน่งในสัดส่วนเท่ากัน ทั้งนี้เพื่อที่จะได้มีพลังในการผลักดันนโยบายและขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้หาเสียงไว้

ดังนั้นจึงฝากไปยังสมาชิกทันตแพทยสภาขอให้ช่วยกันลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการทันตแพทยสภา ซึ่งที่ผ่านมายังมีทันตแพทย์ที่ร่วมใช้สิทธิต่ำมากเพียงร้อยละ 20-30 เท่านั้น โดยขอให้พิจารณาเลือกทีม Well Mixed Team ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข 2-21 เพื่อเข้าไปเป็นตัวแทนวิชาชีพในการพัฒนาทันตแพทย์ และงานทันตกรรมในประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป.

ทั้งนี้สามารถเข้าดู Facebook ของทางทีม Well Mixed Team ได้ ที่นี่

และวารสาร Thai Dental Magazine

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินหน้าเลือกตั้ง กก.ทันตแพทยสภา วาระที่ 8 มีผู้สมัคร 55 คน ตั้งเป้าลงคะแนน 40-50%

“ทีมทันตแพทย์แนวใหม่” ชู 3 นโยบาย ลงแข่งขันเลือกตั้ง “กก.ทันตแพทยสภา

‘ทันตแพทยก้าวหน้า’ ชู 4 นโยบาย หวังเป็นตัวแทนหมอฟัน สธ.เลือกตั้ง กก.ทันตแพทยสภา