ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นพ.ทรงพล” ผอ.รพ.ราชบุรี เผยการดำเนินงานศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยเขต 5 ช่วยแก้ปัญหา รพช.ส่งต่อมา รพศ./รพท.ได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เต็มร้อย เหตุ ทรัพยากร คน เงิน ของ ยังไม่เพียงพอ แต่เขต 5 แก้ปัญหาด้วยการสำรวจทรัพยากรแต่ละ รพ. และโรคที่เกินศักยภาพการรักษาในเขต พร้อมบูรณาการส่งต่อนอกสังกัด สธ. ชี้ต้องหาเจ้าภาพวางแผนแม่บทดำเนินการ ประสานส่งต่อทั้งในและนอกสังกัด แชร์ทรัพยากรร่วมกัน อาจเป็น สธ.หรือ 3 กองทุนก็ได้

จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ได้วางระบบการแก้ไขปัญหารับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ไปยังโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ด้วยการตั้งศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยประจำเขตสุขภาพ ทั้ง 12 เขต และ กทม. โดยมีพยาบาลประจำ 24 ชั่วโมงช่วยรับภาระติดต่อหาโรงพยาบาลแทน รพช.ให้ผู้ป่วยเข้ารักษาที่ รพศ./รพท. และมีระบบส่งกลับ โดยเริ่มดำเนินการแล้วที่เขตสุขภาพที่ 12 มี รพ.หาดใหญ่เป็นศูนย์รับส่งต่อประจำเขตสุขภาพ และเขตสุขภาพที่ 5 มี รพ.ราชบุรีเป็นศูนย์รับส่งต่อนั้น

นพ.ทรงพล ชวาลตันพิพัทธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี กล่าวว่า ที่เขตสุขภาพที่ 5 โรงพยาบาลราชบุรีเป็นผู้ดำเนินงานศูนย์ส่งต่อ ด้วยการวางระบบการทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งการใช้โปรแกรมไทยรีเฟอร์ เพื่อการส่งต่อผู้ป่วยและรับกลับ และยังมีการวางระบบการทำงานแบบเป็นลำดับชั้น ด้วยการทำงานเชิงระบบมีศูนย์สั่งการระดับจังหวัด ระดับเขต  เพื่อให้การส่งต่อและรับกลับผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยใช้นโยบายหลักว่า ในการส่งต่อผู้ป่วย โรงพยาบาลที่เป็นศูนย์รับส่งต่อ จะต้องรับผู้ป่วยไว้ไม่มีสิทธิปฏิเสธ และหากผู้ป่วยได้รับการรักษาจนพ้นขีดอันตรายและอยู่ในศักยภาพของโรงพยาบาลเล็กแล้ว จะมีระบบส่งกลับแบบอัตโนมัติ (Auto refer back) เพื่อกระจายภาระงานงาน และลดความแออัด แต่อย่างไรก็ตามยอมรับว่ายังดำเนินการไม่ได้ผล 100% แต่จะพัฒนาการจัดการเชิงระบบให้มากขึ้น

นพ.ทรงพล  กล่าวว่า ขณะนี้เขตสุขภาพที่ 5 อยู่ระหว่างการสำรวจทรัพยากรในพื้นที่ว่า โรงพยาบาลใดมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านใด อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์อะไรบ้าง เพื่อวางแผนการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ร่วมกับการสำรวจด้วยว่าโรคที่เกินศักยภาพในการรักษาของโรงพยาบาลในเขตคืออะไร เพื่อแสวงหาความร่วมมือกับโรงพยาบาลสังกัดอื่นทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หากโรคใดที่โรงพยาบาลในเขตไม่สามารถรักษาได้ ก็จะพิจารณาส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาที่ โรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่หากเป็นโรคที่ไม่เกินศักยภาพก็จะรักษาในเขต

ทั้งนี้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา โรงพยาบาลทุกระดับในเขตมีการเตรียมการเพื่อรองรับผู้ประสบเหตุตามศักยภาพของตัวเอง เพราะช่วงปีใหม่เน้นเรื่องการรักษาผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่อง กระดูก ศีรษะ และช่องท้อง จึงต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้รองรับ เช่น ศัลยแพทย์ระบบประสาท เพราะเราทราบว่าสถิติผู้ประสบอุบัติเหตุไม่มีทางลดลง เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุมีมากขึ้น เช่น ปัญหาจากโครงสร้างถนน วิศวกรรมการจราจร ตัวคนขับ การใช้ความเร็ว แต่ก็จะได้ทบทวนจุดเสี่ยงว่าอุบัติเหตุเกิดในพื้นที่ไหน อย่างไร จะได้หาทางแก้ไขจุดเสี่ยง และปัจจัยเสี่ยง ให้ได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมานโยบายของ คสช. เรื่องหากเมาแล้วปรับ จะจับและยึดรถ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงด้านคนขับได้มาก

ทั้งนี้ การมีศูนย์สั่งการนั้น เกิดจากปัญหาหลักที่โรงพยาบาลที่รับส่งต่อต้องประสบบ่อยๆ คือ ขาดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอก สธ. และแม้แต่ในโรงพยาบาลสังกัด สธ. ด้วยกันเอง ยังไม่มีระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ เช่น โรงพยาบาลเล็กส่งต่อผู้ป่วยที่ไม่สมควรส่งไปโรงพยาบาลใหญ่ ส่วนโรงพยาบาลใหญ่ก็ไม่สามารถรับคนไข้ไว้ได้ทั้งหมด ทำให้โรงพยาบาลใหญ่รับไม่ไหว เช่น การผ่าตัดต่อแขน การดูแลเด็กคลอดก่อนกำหนด ที่เห็นได้ชัดเจนว่าจำนวนเตียงสำหรับเด็กมีไม่พอทำให้ส่งต่อผู้ป่วยไปไม่ได้ รวมไปถึงโรคหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง ที่ต้องผ่าตัดด่วน

นพ.ทรงพล กล่าวว่า การจัดการปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่หากนำข้อมูลมาเชื่อมต่อกัน และวิเคราะห์ รากเหง้าแห่งปัญหา อันไหนแก้ไขได้แก้ไป ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่ก็ต้องให้ความเห็นใจ สธ. เพราะเป็นปลายทาง เมื่อ คน เงิน ของ ไม่พอ ก็ต้องมาช่วยเติมให้เพียงพอ เช่น เครื่องช่วยหายใจ รถพยาบาล แพทย์ พยาบาล รวมถึงการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ รพ.รัฐ ภาระงานหนัก เงินก็ไม่ค่อยมี ต่างจากภาคเอกชน ต้องมีช่วยกันคิดว่าจะช่วยกันอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

“เรายังไม่มีแผนแม่บทในการทำงาน และการวางระบบสาธารณสุขก็ยังไม่สามารถบูรณาการกับหลายหน่วยงานได้ ที่ผ่านมา การส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลสังกัดอื่น เช่น มหาวิทยาลัย ไปยากเหมือนกัน เราจึงต้องสำรวจทรัพยากรที่มีอยู่ว่ามีอยู่เท่าไหร่ จะใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างไร ผมอยากเห็นโรงพยาบาลสังกัด ทหาร กทม. มหาวิทยาลัย ท้องถิ่น และเอกชน มาช่วยกันวางระบบ มาสำรวจทรัพยากรที่มีอยู่ และมาแบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งตอนนี้เราก็ได้เริ่มคุยกันบ้างแล้ว” นพ.ทรงพล กล่าว

นพ.ทรงพล กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดมาดูแลเชิงระบบ ดังนั้นงานนี้ต้องมีเจ้าภาพ เช่น กองทุนรักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุน (กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ) ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุน หรืออาจจะให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ ในการทำสัญญากับหน่วยบริการต่างสังกัด และทำเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนให้เหมาะสม เพื่อให้ใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประโยชน์สูงสุด.