ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สนช. สปท. พร้อมแพทยสภา และสภาวิชาชีพ แถลงจุดยืนหนุนแนวทางปฏิรูปหลักประกันสุขภาพของ “หมอปิยะสกล” พร้อมเสนอ 4 ข้อ ปชช.ไทยเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น และต้องไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย คนที่ยากไร้ด้อยโอกาสไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนคนที่มีความพร้อมให้มีส่วนร่วมหนุนระบบได้

11 ม.ค. 59 ข่าวรัฐสภารายงานว่า คณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุข สนช. และ สปท. พร้อมภาคีสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ แสดงจุดยืน เห็นด้วยกับแนวทาง รมต.สาธารณสุข คงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยึดความยั่งยืนและคุณภาพควบคู่

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมด้วย นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภาพร้อมภาคีสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ ประกอบด้วย สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ และสภากายภาพบำบัด ร่วมแถลงจุดยืนแสดงความเห็นด้วยกับแนวทางของ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลที่เห็นว่า ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติต้องคงอยู่ ภายใต้แนวคิดปฏิรูปบัตรทอง

พร้อมเห็นว่าต้องมีการดำเนินการให้ระบบดังกล่าวมีทั้งความยั่งยืนและคุณภาพ ด้วยการให้

1.ประชาชนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น

2.ประชาชนที่ยากไร้ ด้อยโอกาส ต้องได้รับการดูแลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

3.ประชาชนไทยที่มีศักยภาพและมีความพร้อม สามารถมีส่วนร่วมสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประชาชนไทยต้องไม่ล้มละลายจากความเจ็บป่วย

แถลงการณ์สนับสนุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้คงอยู่และพัฒนาต่อเนื่องให้ยั่งยืน 

เพื่อให้ประชาชนไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภาคี สภาวิชาชีพด้านสุขภาพ อันประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ และสภากายภาพบำบัด 

จึงได้ร่วมกันแถลงจุดยืนของภาคีสภาวิชาชีพด้านสุขภาพต่อนโยบายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าภาคีสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ

เห็นด้วยกับการที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องคงอยู่ และจะต้องดำเนินการให้มีความยั่งยืนและมีคุณภาพ

โดยมีหลักการดังนี้ 

1. ประชาชนไทยทุกคนจะต้องเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น

2. ประชาชนไทยที่ยากไร้ ด้อยโอกาส ต้องได้รับการดูแลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

3. ประชาชนไทยที่มีศักยภาพและมีความพร้อม สามารถมีส่วนร่วมสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ

4. ประชาชนไทยต้องไม่ล้มละลายจากความเจ็บป่วย

แถลง ณ วันที่ 11 เดือนมกราคม พ.ศ. 2559