ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ ชี้สิทธิรักษา ขรก.เป็นคนละส่วนกับบัตรทอง ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน เพราะเป็นพันธะสัญญาที่รัฐให้ไว้เมื่อเข้ารับราชการ มีรายได้น้อยเพื่อแลกกับสวัสดิการสุขภาพ ระบุหากป่วยด้วยโรคเดียวกัน ก็ต้องใช้งบรักษาเท่ากัน แนะเปลี่ยนระบบบริหารใหม่ เพิ่มคุณภาพเท่ากัน แต่ไม่ใช่ลดคุณภาพการรักษากลุ่มอื่นลง แนะรัฐบาลมีงบกลางให้ผู้ยากไร้ วอนรัฐบาลดูแลสิทธิ ขรก.ให้เต็มที่ เพราะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ประชาชน ทำงานเพื่อสังคมส่วนรวม

พลตรีหญิงพูลศรี เปาวรัตน์

พลตรีหญิงพูลศรี เปาวรัตน์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มคนมองว่า สวัสดิการข้าราชการใช้งบประมาณมากกว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตนมองว่าสิทธิของข้าราชการเป็นคนละส่วนกับเรื่องของการรักษาแบบบัตรทอง เพราะสวัสดิการของข้าราชการถือเป็นพันธะสัญญาที่รัฐบาลได้ให้ไว้ตั้งเมื่อครั้งเข้ารับราชการอยู่แล้ว และโดยปกติผู้รับราชการมีรายได้น้อย เพื่อแลกกับเรื่องสวัสดิการด้านสุขภาพ ที่หวังว่าจะได้รับการดูแลในยามที่ตนเองหรือครอบครัวเจ็บป่วย ซึ่งข้าราชการเองก็ยังมีผลกระทบทางด้านการรักษาอยู่ เพราะค่าบริการบางอย่างก็ต้องจ่ายเงินเอง ส่วนยารักษาโรค ก็ขึ้นกับแพทย์ที่จะให้การรักษาที่เหมาะสมเพื่อให้โรคหายเร็วขึ้น และถ้าได้ยาดี ก็ประหยัดค่าใช้จ่ายที่ต้องไปพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นการลดงบประมาณด้านอื่นๆ ได้อีกมาก

"อันที่จริงแล้วไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน เพราะหากใครป่วยด้วยโรคเดียวกันก็คงใช้งบประมาณในการรักษาตัวเองเท่ากัน มองว่าควรต้องเปลี่ยนระบบการบริหารใหม่ว่า ถ้าเขาจำเป็นต้องใช้ยา ก็ควรให้แพทย์มีสิทธิในการจ่ายยาเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดี ไม่ใช่ไปลดคุณภาพของการรักษาของกลุ่มอื่นลง แต่ควรมีการใช้ด้วยความโปร่งใส ตรงไป ตรงมา ส่วนคนที่ไม่มีเงินจริงๆ รัฐบาลควรมีงบกลาง เหมือนงบน้ำท่วม งบไฟไหม้ เพื่อให้ประชาชนผู้ยากไร้ได้มีโอกาสมาใช้เงินสำรองส่วนนี้ได้ อย่างไรก็ดีอยากฝากวอนรัฐบาลในการให้สิทธิกับข้าราชการ ขอให้รัฐให้การดูแลอย่างเต็มที่ ตามที่ได้เคยให้พันธะสัญญากันไว้ เพราะคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้คือผู้ที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน และทำงานเพื่อสังคมโดยรวมมาโดยตลอด"

พลตรีหญิงพูลศรี กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางที่อาจจะมีการกำหนดงบประมาณเฉลี่ยในการรักษาพยาบาลของ 3 กองทุน โดยแต่ละกองทุนห้ามใช้งบมากกว่ากันเกิน 10% นั้น ไม่เห็นด้วย เพราะงบประมาณเฉลี่ยที่เอามาคิด ถ้าไม่ถูกตรรกะก็ทำให้เป็นการลดมาตรฐานและคุณภาพการรักษา งบประมาณการรักษาโรคต้องขึ้นกับภาวะการเกิดโรคและมาตรฐานการรักษาที่เหมาะสม หากมีความจำเป็นในการรักษาหรือเกิดโรคระบาด การกำหนดตัวเลขแบบนี้ ก็ไม่สามารถทำได้ หากเงินไม่พอ ก็ต้องหาวิธีที่เหมาะสมตามที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขกล่าว