ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เขต 4 สระบุรีร่วมกับเขตสุขภาพที่ 4 สนับสนุนสถานศึกษา 10 แห่งในพื้นที่ร่วมจัดการระบบสุขภาพในชุมชน โดยใช้ข้อมูลงานวิจัยจาก COP R2R 13 เรื่องแก้ปัญหาสุขภาพในพื้นที่ และเชื่อมโยงการทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน

เมื่อเร็วๆ นี้ ณ จ.นครนายก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี ประชุมติดตามความก้าวหน้าการพัฒนากลไกระบบสุขภาพอำเภอ เขตเมือง และประเด็นพัฒนาระบบสุขภาพระดับเขต  (COP R2R) ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตสุขภาพที่ 4 โดยมี นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 ประธานเปิดและบรรยายพิเศษถึงทิศทางการดำเนินงานการพัฒนาระบบสุขภาพเขตสุขภาพที่ 4 โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรีให้แนวทางการสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนระบบสุขภาพอำเภอเพื่อหนุนให้เกิดการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว (LTC) ผ่าน COP R2R  มี นพ.ประสิทธิชัย มั่งจิตร ประธานขับเคลื่อนระบบสุขภาพอำเภอ (DHS) พร้อมทั้ง นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล มศว. และ นพ.ปรีดา ตั้งจิตเมธี รพ.ปทุมธานี เป็นทีมหลักในการขับเคลื่อน นพ.ระวี สิริประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครนายก ร่วมให้ข้อเสนอแนะ โดยมีพื้นที่เขตเมืองของ รพศ., รพท. และมิตรไมตรีคลินิกเวชกรรม สำนักงานสาธารณสุขอำเภอพื้นที่เป้าหมาย กลุ่ม COP R2R ระดับเขต จำนวน 13 เรื่อง เครือข่ายอาจารย์จากสถาบันการศึกษา 10 แห่งในพื้นที่ 8 จังหวัดเข้าร่วมเกือบ 100 คน

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ กล่าวว่า สปสช.เป็นส่วนสำคัญในการที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนระบบสุขภาพในชุมชน โดยเฉพาะทำให้เกิด LTC ในพื้นที่ ในขณะที่สถาบันการศึกษาทั้ง 10 แห่งที่เข้ามาร่วมในครั้งนี้ก็จะเป็นส่วนในการสนับสนุนองค์ความรู้ ด้านกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพ 4  มีบุคลากรที่จะสนับสนุนระบบ ดังนั้นเมื่อนำทั้งสามส่วนมาเชื่อมกันจะได้ประโยชน์ในการทำหลักสูตรเพื่อนักศึกษา สถานบันการศึกษาสามารถผลิตบัณฑิตออกมาให้ตรงตามความต้องการของพื้นที่ เพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลให้บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อประชาชนมีสุขภาพที่ดี เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างมีคุณภาพ และมีระบบการดูแลที่ยั่งยืน ซึ่งการทำงานร่วมกันทั้งสามฝ่ายต้องอาศัยการประชุมหารือร่วมกันเพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นรูปธรรมและชัดเจน และรู้สึกดีใจที่เห็นการทำงานของทั้งสามส่วน มีการประสานข้อมูลสุขภาพร่วมกัน

นพ.ชลอ ศานติวรางคณา กล่าวว่า บทบาทของ สปสช.มองภาพใหญ่ สิ่งที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของการขับเคลื่อนระบบสุขภาพอำเภอหรือ DHS นั้น สิ่งสำคัญคือการมีระบบที่ดูแลระยะยาว โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งสถาบันการศึกษาทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ ที่มีผลงาน COP R2R 13 เรื่อง จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้เกิดระบบการดูแลระยะยาวได้ในอนาคต อีกทั้งในพื้นที่มีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์  (มศว.) ซึ่งจะเป็นแกนหลักในการนำหลักสูตรการฝึกภาคสนามเพื่อการเป็นแพทย์ที่พึงประสงค์ในอนาคต โดยมีองค์ประกอบของปัจจัยกำหนดสุขภาพ และผลงานวิจัย เพื่อพัฒนางานในการแก้ปัญหาชุมชนตลอดจนการมีข้อมูลและรูปแบบการจัดการที่บูรณาการร่วมกันอย่างสมบูรณ์และเป็นรูปธรรม

สำหรับการเคลื่อนต่อ DHML กระบวนการเคลื่อนหลักคือ สธ.ที่ขับเคลื่อนโดยเขตสุขภาพที่ 4 นพ.ประสิทธิชัย มั่งจิตร ร่วมกับวิทยาลัยพยาบาล (วพบ.) ส่วน LTC กระบวนการหลักคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งนี้ 10 สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินการจัดการระบบสุขภาพ เขตสุขภาพที่ 4 ได้แก่คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติเซนเทเรซ่า, มหาวิทยาลัยปทุมธานี, คณะพยาบาลศาสตร์ มศว., วิทยาลัยพยาบาลบรมมราชชนนีสระบุรี และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพระพุทธบาท

ทั้งนี้มีจากเวทีเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน เช่น ให้ อปท.สนับสนุนงบประมาณในส่วนค่าตอบแทนผู้ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง (Care Giver) เพื่อให้เกิดการดูแลระยะยาวและยั่งยืน และควรเปิดช่องให้ อปท.สามารถออกแบบกระบวนการจัดการได้ตามบริบทของพื้นที่ ในขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาก็จะต้องรับดูแลในพื้นที่ใกล้เคียงก่อนเพื่อติดตามผลการดำเนินงานได้อย่างเป็นระยะ และเป็นพี่เลี้ยงในการฟื้นฟูองค์ความรู้