ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยจังหวัดลพบุรี มีผู้สูงอายุเกือบ 1 แสนคน มากกว่า 5.5 หมื่นคนเจ็บป่วยเรื้อรัง เข้าสู่ภาวะพึ่งพิง บูรณาความร่วมมือกับพัฒนาสังคมฯจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบระยะยาว ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ในตำบล 55 ตำบล 59 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วย “ลพบุรีโมเดล”  

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี พญ.มยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เปิดโครงการ “ลพบุรีโมเดล” และการบันทึกข้อตกลงการดูแลผู้สูงอายุแบบระยะยาว ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ระหว่างนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลพบุรี พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลพบุรี นายกองค์กรบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น นายกเทศมนตรี ในพื้นที่เป้าหมาย 55 ตำบล 59 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในการดูแลสุขภาพประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อดูแลประชาชนทุกกลุ่มวัยตลอดทุกช่วงชีวิตอย่างดีที่สุด ทั้งในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ และผู้สูงอายุที่เป็นที่พึ่ง ด้านจิตใจของครอบครัว รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ โดยที่จังหวัดลพบุรี เป็นอีกตัวอย่างของความร่วมมือกันในการบริการประชาชน ด้วยโครงการ ตำบลจัดการสุขภาพแบบบูรณาการ “ลพบุรีโมเดล” โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลง เพื่อดูแลผู้สูงอายุแบบระยะยาว ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กร่วมกัน ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน

โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานดังนี้ 1.ค้นหาผู้สูงอายุ ติดบ้านติดเตียง ใน 55 ตำบลเป้าหมายดำเนินการเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา 2.จัดการอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) หลักสูตร 70 ชั่วโมง ให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ โดยในระยะเร่งด่วนนี้ได้จัดอบรม 2 วัน เพื่อไปดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ตำบลละอย่างน้อย 10 คน โดย 1 คนจะดูแลผู้สูงอายุ 10 คน 3.ส่งเสริมให้คนในครอบครัวผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียงเป็นอาสาสมัครประจำครอบครัว เพื่อช่วยให้การดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมและต่อเนื่อง 4.จัดอบรม เจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 80 คน เป็นผู้จัดการการผู้ดูแลผู้สูงอายุ โดย 1 คนดูแล 1 ตำบล โดยจะอบรมแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อวางแผนการดูแลผู้สูงอายุเป็นรายบุคคล ในพื้นที่เป้าหมาย 55 ตำบล 59 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจะขยายให้ครบทุกตำบลต่อไปในปี 2560

สำหรับที่จังหวัดลพบุรี มีผู้สูงอายุ 97,779 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังและเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง 55,499 คน คิดเป็นร้อยละ 56.75 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง 94,206 คน และพบมีภาวะแทรกซ้อนเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลจำนวน 889 คน ซึ่งถ้าผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ได้รับการดูแลเข้มข้นด้วยทีมสหวิชาชีพจะยืดเวลาไตวายจนต้องล้างไตออกไปได้ 7 ปี ลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายและสุขภาวะของผู้ป่วยลงได้