ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคออกแถลงการณ์ แสดงความเห็นใจทั้งครอบครัวผู้ป่วยและแพทย์ เรียกร้องกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ของตนเอง หลังดองกฎหมายฉบับนี้นานถึง 8 ปี เร่งออกกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขเพื่อลดการฟ้องคดีต่อแพทย์ รวมทั้งผู้ป่วยและครอบครัวได้รับการดูแลความเสียหายที่เกิดขึ้น

เมื่อวันที่ร 11 เมษายน 2559 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคออกแถลงการณ์กรณีความเสียหายทางการแพทย์ โดยระบุว่า “นับเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจทั้งผู้ป่วยและแพทย์ เพราะการฟ้องคดีมีคำว่าชนะและแพ้เป็นคำตอบ ทุกคนมีโอกาสทั้งแพ้และชนะ มีคนได้และมีคนเสียที่ชัดเจน เมื่อกระทรวงสาธารณสุขแพ้คดี ครอบครัวคนไข้ชนะคดี หากผู้ป่วยแพ้คดี ภาระที่เกิดครอบครัวผู้ป่วยก็ต้องรับไป และก็นับว่าน่าเห็นใจผู้พิพากษาที่ต้องตัดสินใจในกรณีที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ย่อมมีความทุกข์ไม่น้อย

อดีตที่ผ่านมา หากผู้ป่วยหรือญาติชนะคดี ได้เกิดผลกระทบกับทุกฝ่ายทั้งในระดับนโยบาย และการปฏิบัติ เช่น กรณีอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ชนะคดีในศาลชั้นต้น ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายและถ่ายทอดข้อมูลที่ไม่ถูกต้องสู่วงการวิชาชีพจนเป็นบาดแผลกับผู้ป่วย แต่เมื่อผู้ป่วยแพ้คดีในศาลอุทธรณ์ก็ได้สร้างความทุกข์ บรรยากาศการไม่ได้รับความเป็นธรรมกับผู้ป่วยเช่นเดียวกัน เพียงแต่เสียงของญาติผู้ป่วยไม่ดังพอที่จะได้รับความสนใจจากสังคม

หรือในกรณีนี้ที่แพ้คดีมาทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่เมื่อชนะคดีในศาลฎีกา กระบวนการยุติธรรมก็ถูกวิพากวิจารณ์อย่างหนักจากแพทยสภาและผู้ประกอบวิชาชีพ หากเป็นเหมือนกรณีคำพิพากษาด้านอื่นๆ คงไม่พ้นเจอข้อหาละเมิดอำนาจศาลไปแล้ว

หากสังคมไทยยังดำรงสถานการณ์เช่นนี้ไว้ ปรากฎการณ์เหล่านี้ก็จะยังดำรงอยู่เป็นระลอก เพราะการฟ้องคดีเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน ถึงแม้แพทยสภาจะมีอำนาจในการประสานงานให้ส่วนต่างๆ ไม่ไปให้การในศาล มีนักกฎหมายของผู้ประกอบวิชาชีพเข้าไปสนับสนุนการทำคดี การต่อสู้เพียงลำพังของญาติและคนไข้ก็ได้รับความเห็นใจไม่น้อยจากฝ่ายต่างๆ

ในต่างประเทศมีระบบกฎหมายที่ช่วยลดการฟ้องร้องแพทย์ ส่วนคนไข้หรือครอบครัวได้รับการดูแลความเสียหาย ความพิการ การสูญเสียชีวิต ที่เรียกว่า No - fault liability ขึ้น ซึ่งมีใช้ในหลายประเทศ โดยใช้หลักการว่า ความเสียหายที่เกิดจากการรับบริการสาธารณสุข ไม่ได้มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ความผิดพลาดเป็นเรื่องคู่กันกับมนุษย์ ทรัพยากรที่ไม่เพียงพอของโรงพยาบาล ความเชี่ยวชาญ ภาวะการทำงานหนักของผู้ประกอบวิชาชีพ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ป่วยได้

การชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น ควรมีระบบกลไกในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น สวีเดน นิวซีแลนด์ อังกฤษ ถือว่าการที่ผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์นั้นเป็นอุบัติภัย กฎหมายในลักษณะนี้จึงไม่เกี่ยวกับการกระทำของแพทย์ว่า “ประมาทหรือไม่ประมาท” เพราะฉะนั้น กฎหมายประเภทนี้ จึงมองถึงความเสียหายและมีการชดเชยเท่านั้น โดยจะเป็นการลดการฟ้องร้องทางลงได้

ฉะนั้น การป้องกันการฟ้องร้องแพทย์โดยการออกกฎหมายให้มีการเยียวยาตามหลักการดังกล่าวน่าจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเพราะไม่ต้องมีการพิจารณาว่าแพทย์จะมีความผิดหรือไม่ แต่เมื่อมีผู้เสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการรักษาก็ได้รับการเยียวยาดูแล

ในประเทศไทย เครือข่ายผู้ป่วย องค์กรด้านสุขภาพ และองค์กรผู้บริโภค ได้มีการผลักดันยกร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ในปี พ.ศ.2550 โดยมีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ

1) การชดเชยความเสียหายจากบริการสาธารณสุขโดยไม่พิสูจน์ถูกผิด

2) การลดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์ และคนไข้

3) การนำความเสียหายที่เกิดขึ้นปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุข

และประชาชนได้เข้าชื่อกัน 10,000 รายชื่อ เสนอกฎหมายต่อรัฐสภาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2552 แต่ก็ถูกคัดค้านโดยแพทยสภา และได้มีร่างกฎหมายของแพทย์เข้าชื่อกันในการเสนอกฎหมายฉบับนี้ด้วย เมื่อปีพ.ศ.2554 รัฐสภาได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุร่างพระราชบัญญัติฯ ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 แล้ว แต่ยังไม่ได้รับพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทั้งรัฐบาลอภิสิทธ์และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีผลให้ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับตกไปหลังรัฐประหารปัจจุบัน

ปี พ.ศ.2557 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้เสนอบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง แนวทางการตรากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหาย จากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภาปฏิรูปเพื่อพิจารณา

ล่าสุด ปี พ.ศ.2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เห็นชอบส่งร่างกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และ ครม.ได้นำส่งกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณา แต่ยังไม่มีความคืบหน้าของกระทรวงสาธารณสุขจนถึงปัจจุบัน

โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ถอยมาหลายก้าว และเปลี่ยนแปลงชื่อกฎหมาย ยึดหลักการที่ทุกฝ่ายน่าจะรับได้จากร่างของกระทรวงสาธารณสุข กฤษฎีกา และ คปก. ให้ความคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการ การทำสัญญาประนีประนอมไม่ฟ้องคดีหากได้รับการเยียวยา หรือการฟ้องคดีจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีในการขอรับเงินชดเชยตามร่างกฎหมายฉบับนี้ก่อน จึงจะฟ้องคดีต่อศาลได้ ในกรณีที่ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว ศาลมีอานาจ ไม่รับคดีไว้พิจารณา เป็นต้น (อ่านรายละเอียดได้ ที่นี่)

ท้ายสุดหวังว่ากระทรวงสาธารณสุข จะเร่งดำเนินการจัดทำกฎหมายฉบับนี้โดยเร็วเพื่อลดความขัดแย้งความทุกข์  ของทั้งแพทย์ คนไข้และครอบครัว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 11 เมษายน 2559