เว็บไซต์ไทยรัฐ : บทความนี้เขียนโดยเพื่อนของหมอ Professor Robert E. Dedmon จากภาควิชาสุขภาพประชากร วิทยาลัยแพทยศาสตร์ Wisconsin เมือง Milwaukee ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เรามาดูสภาพปัจจุบันครับ ว่าดีขึ้นหรือเลวลง
วิกฤติเศรษฐกิจโลกและวิวัฒนาการของการสาธารณสุขและอุบัติการณ์ของโรคในประเทศไทย...สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจโลกแย่ลงตามลำดับ
ในแต่ละวันหนึ่ง ในรายงานด้านเศรษฐกิจล่าสุดแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันทั่วโลกมีคนตกงานเป็นจำนวนมากถึง 100,000 คนภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ หากผู้คนไม่มีงานทำพวกเขาก็ไม่สามารถหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมาบริโภคได้ นอกจากนี้งบประมาณด้านสาธารณสุขยังถูกจำกัดอีกด้วย
สิ่งเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนแรงฉุดสำคัญต่อการปฏิรูปการสาธารณสุขเช่น การขยายและการปรับปรุงการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ (primary care) ในภูมิภาคที่ขาดแคลน นาง Margaret Chan ผู้อำนวยการทั่วไปขององค์การอนามัยโลก (WHO Director-General) แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ข้างต้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่นเดียวกันกับธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งได้แสดงข้อคิดเห็นที่เป็นไปในทำนองเดียวกันอย่างตรงไปตรงมา กล่าวคือทางธนาคารโลกเสนอให้ประเทศต่างๆ “พุ่งเป้าหมายไปยังการให้บริการที่สำคัญอย่างเฉพาะเจาะจงต่อกลุ่มประชากรต่างๆ ที่ต้องการบริการดังกล่าว”
ซึ่งในการดำเนินการตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ข้างต้นจำเป็นต้องอาศัย “วิทยาศาสตร์ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ข้อมูลที่ดีกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันและการติดตามผลการดำเนินการที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”
แต่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกพังทลายเช่นนี้ การไล่ตามเทคโนโลยีที่ทันสมัยโดยมองข้ามความต้องการพื้นฐานที่แท้จริงของประชากรย่อมเต็มไปด้วยความเสี่ยงต่อความล้มเหลว สำหรับประเทศไทยนั้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคในแผนปฏิรูปการสาธารณสุขถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้หยิบยกประเด็นสำคัญมาวิเคราะห์ โดยประเด็นเหล่านี้ได้แก่
(1) การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อผลักดันสู่ระบบการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ซึ่งปัจจุบันยังขาดแคลนบุคลากรผู้ปฏิบัติงานอย่างมาก
(2) ความเคยชินของผู้ป่วยไทยต่อการเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ รวมถึงความอิสระในการเลือกรับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาต่างๆที่ตนพึงพอใจ
(3) ความเชื่อมั่นต่อการบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิที่จำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างขึ้นมา
(4) โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอาจจำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้รับบริการและผู้ให้บริการ รวมถึงเพื่อให้องค์กรที่ให้บริการด้านสาธารณสุขภายใต้โครงการนี้สามารถหารายได้เพื่อจุนเจือตนเองได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ (แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากในยุควิกฤติเศรษฐกิจโลกก็ตาม)
ประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในด้านการสาธารณสุข โดยเห็นได้จากข้อมูลรวบรวมเกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศต่างๆ ทั่วโลกขององค์การอนามัยโลก ตัวอย่างเช่น การลดลงอย่างมากของการตายทารก (infant mortality) จาก 40.7 ต่อการเกิดมีชีวิต 1,000 รายในช่วงปี พ.ศ.2528- 2529 เหลือเพียง 16.3 ต่อการเกิดมีชีวิต 1,000 รายในปี พ.ศ.2550,
ในปี พ.ศ.2548 ร้อยละ 99 ของเด็กแรกคลอดได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคภายใน 1 วันหลังคลอด,
ในปี พ.ศ.2543 ร้อยละ 93 ของประชากรภายในประเทศมีโอกาสเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัยต่อการบริโภค,
ในปี พ.ศ.2545 ร้อยละ 75 ของหญิงมีครรภ์ได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักขณะตั้งครรภ์รวมถึงการลดลงอย่างมากของการตายจากโรคพิษสุนัขบ้าจากประมาณปีละ 400 รายในช่วงทศวรรษที่ 1980 เหลือเพียงไม่เกิน 20 รายในปี พ.ศ.2551
อย่างไรก็ตาม การตายที่ลดลงอย่างมากจากโรคพิษสุนัขบ้าที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้นไม่ได้เป็นผลจากการควบคุมสุนัขจรจัด แต่เป็นผลจากการที่ผู้ป่วยได้รับวัคซีนหลังโดนสุนัขกัดโดยที่ยังคงมีสุนัขจรจัดซึ่งยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นจำนวนมากในประเทศไทย
การเสียชีวิตโดยรวม (overall mortality) ของประชากรไทยมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่โรคติดเชื้อหรือโรคติดต่อ (infectious/ communicable disease) เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในประชากรไทยกลายเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ (chronic diseases) รวมถึงโรคที่เป็นผลมาจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือสัดส่วนการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานที่เพิ่มมากขึ้นจาก 7.5 รายต่อการเสียชีวิต 100,000 รายในปี พ.ศ.2540 เป็น 13.2 รายต่อการเสียชีวิต 100,000 รายในปี พ.ศ.2544
แนวโน้มของการเสียชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะดังกล่าวเป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องได้รับความใส่ใจในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้วางนโยบายด้านสาธารณสุข ผู้มีหน้าที่ให้ความรู้ด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ให้บริการด้านการรักษาพยาบาล
นอกจากนี้การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มของการเสียชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปก็มีความสำคัญเช่นกัน โรคทางจิตเวชก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ผู้ป่วยด้วยโรคจิตเวชจำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปก่อนที่จะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลด้านจิตเวชเพื่อการบำบัดรักษาต่อไป ปัญหาที่เกิดตามมาคือ
(1) ยาส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิปัจจุบันเป็นยาแบบเดียวกันกับที่เคยใช้เมื่อ 30 ปีก่อน
และ (2) ร้อยละ 40 ของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไประบุว่าพวกเขาต้องตรวจคนไข้มากกว่า 70 รายต่อวันทำให้ไม่มีเวลามากพอสำหรับการตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวชหรือแม้แต่ผู้ป่วยทั่วไป!!
ผู้เขียน : หมอดื้อ (ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา)
ที่มา: http://www.thairath.co.th
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
อนาคตการสาธารณสุขปฐมภูมิในประเทศไทยท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก ตอนที่ 1
- 117 views