ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอปิยะสกล” เคลียร์ใจด่วนกับผู้บริหาร/จนท.สปสช. แจงกระบวนการสรรหาเลขาธิการ สปสช.หลังมีกระแสต้านไม่โปร่งใส ยืนยันไม่เคยล๊อบบี้ ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ดึง “หมอประทีป” นั่งที่ปรึกษา พร้อมเดินหน้าสรรหาเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ย้ำต้องมีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ชี้หลักประกันสุขภาพของไทยเป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งประเทศ ต่างชาติชื่นชม ไม่เคยมีความคิดล้มล้างแม้แต่น้อย ข้องใจคนจับไปประเด็นเพื่อสร้างกระแสต่อต้าน

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อเวลา 15:00 น. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เดินทางมาที่ สปสช.เพื่อพูดคุยเจ้าหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อชี้แจงและตอบข้อซักถามปัญหาการสรรหาเลขาธิการ สปสช. และการรับรอง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช.เป็นเลขาธิการ สปสช. ในการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีทีมที่ปรึกษา พญ.มยุรา กุสุมภ์ และ นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี เลขานุการ รมว.สาธารณสุข ร่วมชี้แจง โดยมี นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการ สปสช. และ นพ.ประทีป พร้อมด้วยผู้บริหาร สปสช. และเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดการประชุมผ่านระบบวีดีโอผ่านทางไกลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ สปสช. 13 เขตเข้าร่วม

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณพวกเราทุกคนที่ทำงานมาจนถึงวันนี้ ผลการทำงานเป็นที่น่าชื่นชม ดังนั้นอย่าหมดกำลังใจทำงานเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเดินหน้าต่อไป ต้องบอกว่าที่เข้ามารับหน้าที่เพื่อมาสร้างความร่วมมือทำให้ระบบสุขภาพมีความมั่นคงยั่งยืน ไม่มีสิ่งใดแอบแฝง และที่ผ่านมาได้พยายามรับฟังข้อปัญหาต่างๆ แต่ต้องเข้าใจว่าตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งและระบบมีมานานรวมถึงปัญหา ดังนั้นคงไม่สามารถแก้ปัญหาทันที ทั้งนี้ สปสช.เป็นที่น่าชื่นชมในระดับสากล ไม่ว่าองค์การอนามัย องค์การสหประชาชาติ และธนาคารโลก ได้ยกให้เราเป็นตัวอย่างประเทศที่ดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือเป็นความภาคภูมิใจคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นจึงไม่มีแนวคิดล้มล้างแม้แต่น้อย แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงมีคนจับประเด็นไปสร้างกระแสต่อต้านซึ่งไม่มีประโยชน์ 

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การสรรหาเลขาธิการ สปสช.ที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปตามกระบวนการ ซึ่งแน่นอนคงมีคนที่ไม่เชื่อใจและมาเพ่งโทษกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ตนไม่พูดว่าเป็นความไม่ดีของใคร แต่มองว่าเกิดจากความไม่ไว้วางใจกัน และตนไม่มีผลประโยชน์ใดๆ จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ และต้องย้ำว่าการเข้ามาทำหน้าที่นี้ไม่ได้เพื่ออยู่นาน แต่เข้ามาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาตามที่ได้สัญญากับนายกรัฐมนตรีไว้  

“ในการทำหน้าที่ผมไม่เคยล๊อบบี้ใคร ไม่ว่าในคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือแม้แต่ในการประชุมบอร์ด สปสช. สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามครรลอง ซึ่งต้องยอมรับว่าบอร์ด สปสช.ที่นี่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย และต่างฝ่ายต่างมีการล๊อบบี้และมองว่าอีกฝ่ายผิด เหตุการณ์แบบนี้ผมไม่อยากให้มี อีกทั้งในการประชุมมีการถ่ายทอดสด หากใครฟังจะเห็นทุกขั้นตอน ซึ่งผมไปสั่งให้บัตรดีเป็นบัตรเสียไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของกรรมการที่ต้องร่วมโหวต ซึ่งผมได้ถามฝ่ายกฎหมายแล้ว” รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า ทั้งนี้ในการสรรหาเลขาธิการ สปสช.มองว่าคุณสมบัติสำคัญคือต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า นพ.ประทีปเป็นคนที่ทำงานได้ ใครมาเป็นเลขาธิการ สปสช.ก็ต้องทำงานกับเราได้ แต่ความจริงต้องเป็นความจริง ไม่บิดเบือน ซึ่ง นพ.ประทีปเป็นเหมือนอาวุโสคงต้องอยากให้ระบบนี้ดีแน่นอน เป็นระบบที่ดีต่อประเทศ ดังนั้นเราควรหันหน้าเข้าหากันโดยให้ท่านเป็นที่ปรึกษา เพราะประสบการณ์ของท่านจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหาร อย่างไรก็ตามการสรรหาเลขาธิการ สปสช.ในครั้งหน้าต้องไม่เป็นแบบนี้ ซึ่งจะทำให้การบริหารยากมากเพราะต้องบริหารบนความขัดแย้งตลอดเวลา ดังนั้นจึงควรมาพูดคุยและจับมือทำงานต่อไปบนความไว้วางใจต่อกัน ซึ่งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหลักการที่ดี ยืนยันว่าไม่คิดเปลี่ยนแปลง แต่ต้องช่วยกันทำงานเพื่อทำให้ระบบเกิดความยั่งยืน

ทั้งนี้ในช่วงเปิดให้ซักถาม ได้มีเจ้าหน้าที่ สปสช.ต่างซักถามและแสดงความเห็น โดยได้แสดงความกังวลการทำงานของ สปสช.ในช่วงสุญญากาศในระหว่างรอการสรรหาเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ โดย นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เพื่อให้ สปสช.ดำเนินงานได้และไม่กระทบต่อประชาชน ให้ สปสช.แต่ตั้งรองเลขาธิการ สปสช.แทนผู้ที่เกษียณอายุลงได้ พร้อมกันนี้ ยืนยันว่าบอร์ด สปสช.ไม่ได้มีหน้าที่ลงไปบริหาร สปสช. เพียงแต่มีหน้าที่ในการให้คำแนะนำ แต่หากเลยขอบเขตการทำงาน สปสช.จึงต้องส่งเรื่องมาขออนุมัติบอร์ด ดังนั้นการทำงานต้องมีเส้นแบ่งชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะทำงานร่วมกันไม่ได้