ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขชี้ไอคิวเด็กไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น ไอคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติถึง 2 ใน 3 และมี 42 จังหวัดรวมกรุงเทพมหานคร ไอคิวสูงเกิน 100 ผลสำเร็จจากความร่วมมือส่งเสริมพัฒนาการเด็ก การควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน และการยกระดับคุณภาพศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ มอบนโยบายเพิ่มโอกาส สร้างความเท่าเทียม กำจัดสาเหตุปัญหาโภชนาการ เสริมภูมิคุ้มกันด้านการเลี้ยงดู สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สนับสนุนนโยบายจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เด็กตั้งแต่ปฐมวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

วันนี้ (29 กรกฎาคม 2559) ณ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต และนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวผลการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (ไอคิว: IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว: EQ) ในเด็กไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พ.ศ. 2559

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในปี 2559 กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการสำรวจสถานการณ์ไอคิวและอีคิว เด็กนักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศจำนวน 23,641 คน พบว่าเด็กมีคะแนนไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 98.2 ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในปี 2554 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 94 เด็กไทยมีไอคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติถึง 2 ใน 3 หรือร้อยละ 68 ขณะที่เด็กจาก 42 จังหวัดรวมทั้ง กทม. มีไอคิวสูงเกิน 100 ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กบางส่วนใน 35 จังหวัด ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังพบเด็กที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์บกพร่องหรือต่ำกว่า 70 ถึงร้อยละ 5.8 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลคือไม่ควรเกินร้อยละ 2 โดยเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีปัจจัยเสี่ยงสูงกว่าภาคอื่นๆ ตลอดจนพบว่า เด็กนอกเขตอำเภอเมือง มีระดับไอคิวเฉลี่ย 96.9 ขณะที่เด็กในเขตอำเภอเมืองมีไอคิว 101.5 และเด็กในพื้นที่ กทม.มีไอคิวเฉลี่ย 103.4

ส่วนความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กเป็นไปตามเป้าหมาย ร้อยละ 77 แต่ยังพบเด็กจำนวนไม่น้อยที่ยังต้องการการพัฒนา ปัญหาอีคิวที่พบมากที่สุดคือด้านขาดความมุ่งมั่นพยายาม และขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา

จากการศึกษาดังกล่าวสะท้อนถึงความสำเร็จของกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินงานส่งเสริมพัฒนาการเด็ก การควบคุมป้องกันการขาดสารอาหารในเด็ก ได้แก่ เหล็ก ไอโอดีน และโฟลิก ตลอดจนการยกระดับพัฒนาศักยภาพบุคลากรศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาไอคิว – อีคิว คือ การอยู่ในพื้นที่ชนบท การมีรายได้ไม่เพียงพอในครอบครัว ตลอดจนสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่พ่อแม่ต้องเข้ามาทำงานในเมือง โดยปล่อยให้ผู้สูงอายุต้องเลี้ยงดูหรือในบางครอบครัวมีการปล่อยปละละเลยเด็ก โดยเด็กที่มีระดับไอคิวต่ำมากๆ มีแนวโน้มจะมีความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวต่ำร่วมด้วย ซึ่งนโยบายจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เด็กตั้งแต่ปฐมวัย โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย นับเป็นอีก 1 นโยบายสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาส เอื้อต่อการพัฒนาไอคิว อีคิว ให้กับเด็กไทยได้

กระทรวงสาธารณสุขจึงบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มโอกาส สร้างความเท่าเทียม กำจัดสาเหตุปัญหาโภชนาการ เสริมภูมิคุ้มกันด้านการเลี้ยงดู สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาไอคิว อีคิว ยกระดับคุณภาพศูนย์เด็กเล็ก พัฒนาศักยภาพบุคลากร ตลอดจนผู้ที่เลี้ยงเด็กให้มีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสมกับวัย มีการฝึกวินัยที่เหมาะสม เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นเด็กที่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ มุ่งมั่นพยายาม มีคุณธรรมจริยธรรม และมีความสุขในชีวิต

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตดำเนินการป้องกันปัญหาและส่งเสริมศักยภาพ ไอคิว-อีคิวเด็กไทยใน 3 ระดับ ดังนี้

1.ส่งเสริมพัฒนาการในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับโดยให้ความสำคัญต่อเด็กที่มีภาวะเสี่ยงให้ได้รับการช่วยเหลือแก้ไขได้เร็วที่สุด

2.ส่งเสริมการเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าเรียน ทั้งทักษะการอ่าน การคำนวณ ผ่านกลไกการเลี้ยงดูและการเล่นที่ถูกต้องในครอบครัวและศูนย์เด็กเล็ก มีเครื่องมือที่ทุกฝ่ายจะใช้ร่วมกันในการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

และ 3.การติดตามดูแลเด็กต่อเนื่องในวัยเรียนด้วยการคัดกรองปัญหาการเรียนรู้ สมาธิ ออทิสติก อารมณ์และพฤติกรรม เพื่อดูแลช่วยเหลือเด็ก

เนื่องจากเมื่อเด็กเข้าถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะพบปัญหาดังกล่าวประมาณร้อยละ 15 โดยครูจะสามารถคัดกรองและช่วยเหลือเบื้องต้นและพิจารณาส่งต่อระบบสาธารณสุขได้ในโปรแกรมระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมทั้งในทุกพื้นที่ รวมทั้งการฝึกอบรมและเพิ่มพยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่นในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เด็กที่ขาดอาหาร โดยเฉพาะทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม จะเป็นเด็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ส่งผลให้ติดเชื้อง่าย เจ็บป่วยบ่อย หรือเป็นนาน และรุนแรงมากกว่าเด็กปกติ นอกจากนี้ เด็กที่มีภาวะเตี้ย ยังมีผลต่อการพัฒนาสมองเป็นผลให้เด็กมีสติปัญญาต่ำ ความสามารถในการเรียนรู้บกพร่อง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เฉื่อยชา กรมอนามัยจึงเฝ้าระวังเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เด็กไทยทุกคนมีโอกาสเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ โดยส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ ทารก และเด็กได้รับอาหารอย่างเหมาะสมทั้งชนิดและปริมาณ รวมทั้งการเสริมสารอาหารสำคัญให้เพียงพอ ได้แก่ เหล็ก ไอโอดีน กรดโฟลิก ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี มีน้ำหนักและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์การเจริญเติบโตเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล

ซึ่งจะดำเนินการอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง และยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งจำเป็นต้องเร่งให้ความช่วยเหลือและติดตามดำเนินการเป็นพิเศษ  เพื่อส่งเสริม ป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด รวมทั้งได้ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมสุขภาพเด็กไทย เริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 18 ปี เน้นการส่งเสริมโภชนาการและการออกกำลังกาย  ตั้งเป้าหมาย 20 ปีข้างหน้า ส่วนสูงเฉลี่ยผู้ชาย 180 เซนติเมตร และส่วนสูงผู้หญิง 170 เซนติเมตร