ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอสุริยะ” นพ.สสจ.สมุทรสงคราม อดีต นพ.สสจ.ระนอง เผยความสำเร็จ จ.ระนอง จัดการสุขภาพแรงงานต่างด้าว ใช้แนวทาง ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างด้าว ต้องเข้าถึงบริการสุขภาพเท่าเทียมกัน เน้นขายบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวให้ครอบคลุม ให้ รพ.มีเงินรองรับบริการ เน้นงานส่งเสริมป้องกันโรค ความร่วมมือกับพม่า ทั้งสอบสวนป้องกันโรค ชี้เป็นจังหวัดชายแดน หากเกิดโรคระบาด ทั้งไทยและต่างด้าวมีความเสี่ยงเท่ากัน

นพ.สุริยะ คูหะรัตน์

นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวถึงการบริหารจัดการเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขว่า ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) เมื่อวันที่  31 ธันวาคม 2558 แล้ว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับประชาคม ในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแนวชายแดนติดต่อกับประเทศพม่านั้น ได้ให้นโยบายไว้ว่าจะต้องให้บริการด้านสาธารณสุขกับชาวต่างด้าวและคนไทยอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของโรค หรือเกิดความเสี่ยงด้านสาธารณสุข ทั้งคนไทยและคนพม่าต่างก็ได้รับความเสี่ยงเท่าๆ กันจึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ให้มากที่สุด

นพ.สุริยะ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของตนคือ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือต่างด้าว ก็ต้องเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นเพื่อรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ในส่วนของแรงงานต่างด้าวจะต้องขายบัตรประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าวและครอบครัวให้ได้มากที่สุด คือ ผู้ใหญ่ 1,200 บาทต่อปี เด็ก 356 บาทต่อปี เมื่อมีผู้ป่วยต่างด้าวเข้ามารับการรักษาพยาบาล เจ้าหน้าที่จะต้องช่วยกันเชียร์ให้ทั้งครอบครัวซื้อบัตรประกันสุขภาพ ซึ่งปีแรกที่ให้แนวคิดนี้ไปในพื้นที่ จังหวัดระนองก็ขายบัตรประกันสุขภาพได้ประมาณ 2 หมื่นคน ปีถัดมาได้เพิ่มขึ้นเป็น 4 หมื่นคน ทำให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการแรงงานต่างด้าวได้แบบไม่ขาดทุน

“แนวคิดของผมคือ ยิ่งขายบัตรประกันสุขภาพได้มาก ก็ยิ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงออกไปได้มาก โรงพยาบาลก็อยู่ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วย คนท้อง ที่หลายแห่งไม่อยากขายบัตรประกันสุขภาพให้เพราะกลัวขาดทุน แต่เราจะขายให้ทุกคนไม่เลือกว่าเป็นใคร และไม่ว่าจะซื้อบัตรที่โรงพยาบาลไหนก็รักษาได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดระนอง เพราะผมเชื่อว่าหากเราทำงานส่งเสริมและป้องกันโรคได้ดี คนป่วยจะน้อยลง เงินก็จะเหลือมากขึ้น” นพ.สุริยะ กล่าว

นอกจากนี้เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ด้านสาธารณสุข และช่วยกันส่งเสริมป้องกันโรค ตนได้ทำข้อตกลงร่วมกับเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขระดับสูงของเกาะสอง ประเทศพม่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่งในข้อตกลงนั้นทั้งสองฝ่ายจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลด้านสาธารณสุข ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งต่อปี และมีการใช้ระบบสอบสวนโรค (Joint SRRT) กับทั้งฝั่งไทยและพม่า ในปี 2556 พร้อมกันนี้ยังมีการจัดทำทำเนียบติดต่อ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล แจ้งเหตุเมื่อพบโรคระบาด

“ในปี 2557 ได้ร่วมกันซ้อมปฏิบัติการป้องกันโรคไข้หวัดนก และโรคอีโลบา ทั้งการซ้อมบนโต๊ะ และซ้อมปฏิบัติการจริงที่ท่าเรือ และยังได้นำทีมสาธารณสุขของฝั่งพม่าไปเยี่ยมชุมชนพม่าในระนอง และทางเราก็ได้ไปเกาะสองที่พม่าและได้ทราบว่า โรงพยาบาลของเกาะสองนั้น เครื่องมือ บุคลากรทางการแพทย์ ไม่พร้อมเท่าฝั่งไทย ซึ่งผมคิดเอาไว้ว่าหากได้เป็นนายแพทย์สาธารณสุขที่ระนองต่อ ก็จะข้ามไปขายบัตรประกันสุขภาพให้กับชาวพม่าที่เกาะสอง น่าจะได้กว่า 100,000 ใบ  จะได้เอาเงินมาพัฒนาระบบสาธารณสุขชายแดน และให้เกาะสองเป็นปราการป้องกันโรคให้ได้ด้วย” นพ.สุริยะ กล่าว

นพ.สุริยะ กล่าวว่า เมื่อตนได้ย้ายมาเป็นนายแพทย์สาธารณสุขสมุทรสงคราม เรื่องแรงงานต่างด้าวก็คงต้องค่อยๆ ทำไป เพราะสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวประมาณ 6,000 คน แต่ไม่ได้มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน บริบทของการทำงานก็จะแตกต่างกัน แต่ก็จะเน้นให้เจ้าหน้าที่ขายบัตรประกันสุขภาพ และพยายามระบุพื้นที่ให้ได้ว่าแรงงานพม่าอยู่ตรงไหน จะได้ดูแลง่ายมากขึ้น และไม่ว่าจะเป็นคนต่างด้าวหรือคนไทยจะต้องให้วัคซีนครอบคลุม 90% เพื่อเป็นการป้องกันโรคที่ได้ผลยิ่งขึ้น.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง