ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สต.ปากคลอง ระนอง เผยความสำเร็จจัดการสุขภาพแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ จากการสนับสนุน สสจ.ระนอง ให้งบจัดหา พสต.เป็นล่าม และ อสต.ดูแลภายในชุมชน จัดระบบป้องกันและรับมือกับโรคระบาด ส่งเสริมแรงงานข้ามชาติซื้อบัตรประกันสุขภาพเป็นหลักประกัน พร้อมความร่วมมือมูลนิธิศุภนิมิตตั้งศูนย์สาธารณสุขมูลฐานในชุมชน

นายสมปอง ชัยณรงค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ปากคลอง ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อให้บริการแรงงานข้ามชาติในพื้นที่นั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ด้วยการให้งบประมาณจัดจ้าง พนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) มาประจำที่ รพ.สต. 2 คน ซึ่ง พสต.จะมีหน้าที่หลักในการเป็นล่ามให้เจ้าหน้าที่สื่อสารกับชาวพม่าที่มารักษา และช่วยให้บริการ เช่น วัดความดัน ชั่งน้ำหนัก ตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น ให้ชาวพม่าที่มารับการรักษาพยาบาล ซึ่งได้ผลดีมาก เพราะชาวพม่าจะรู้สึกอุ่นใจ วางใจว่า พสต. เป็นพวกเดียวกัน และไม่ต้องกังวลเรื่องการเข้าเมืองอย่างถูกต้องหรือไม่ เพราะเราเน้นการรักษาพยาบาลและป้องกันโรคเท่านั้น

นายสมปอง กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมี อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ซึ่งจะมีบทบาทเช่นเดียวกับ อสม. ในพื้นที่ รพ.สต.ปากคลองมี อสต. 30 คน กระจายอยู่ในชุมชนชาวพม่าซึ่งมีอยู่ 10 ชุมชน ซึ่ง อสต.ทุกคนจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ การอบรมให้ความรู้ทุกปี

จากนั้นจะได้รับมอบหมายให้ดูแลชาวพม่าในชุมชนของตนเอง เช่น เมื่อมีโรคระบาดให้ไปแจ้งข่าวที่ รพ.สต. เพื่อวางแผนป้องกันโรค และเมื่อลงเยี่ยมติดตามผู้ป่วย อสต.จะติดตามไปด้วย เพื่อเป็นล่าม และให้คำแนะนำ ส่วนการคัดเลือกว่าจะให้ใครมาเป็น อสต.นั้น จะเลือกจากผู้ที่อยู่ในพื้นที่มานานหลายปี สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ และในพื้นที่ยังได้รับงบประมาณจากมูลนิธิศุภนิมิต ให้จัดตั้งศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) ในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถจ่ายยาสามัญประจำบ้าน ได้

“สำหรับการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลใน รพ.สต.นั้น แต่ละวันจะมีคนมารับบริการ เฉลี่ย 50-60 คน และ 90% จะเป็นชาวพม่า หากวันไหนมีนัดฉีดวัคซีนชาวพม่าจะมากันเยอะมาก จนเต็มลานหน้า รพ.สต. จากการทำงานมาพบว่า แต่ละปีจะมีชาวพม่ามาฝากครรภ์เพิ่มมากขึ้น แม้ว่างานวางแผนครอบครัวยังไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก แต่ก็มีผู้มาฉีดยาคุมกำเนิดและรับยาคุมกำเนิดเพิ่มขึ้น แต่คนพม่าจะไม่นิยมทำหมัน ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ว่าทำหมันแล้วจะทำงานหนักไม่ได้ หรือความสุขทางเพศลดลง ก็ต้องให้ความรู้กันมากขึ้น” นายสมปอง กล่าว

นายสมปอง กล่าวว่า โรคที่พบส่วนใหญ่จะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ท้องร่วง ไข้หวัด อุบัติเหตุจากการทำงาน เพราะคนพม่าส่วนใหญ่จะมาทำงานเป็นคนงานตามแพปลา ก็จะอุบัติเหตุ หล่นจากเรือ หรือถูกของมีคม จากการประมาณการพบว่าคนพม่าในพื้นที่มีบัตรประกันสุขภาพ 70-80% เขาสนใจที่จะซื้อบัตรเพราะประหยัดค่ารักษา ซื้อไว้ก็คุ้มค่าเพราะผู้ใหญ่แค่ 1,200 บาทต่อปี ส่วนเด็ก 365 บาทต่อปี หากไม่มีบัตร พสต.ก็จะเชียร์ให้ซื้อบัตรสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนการควบคุมโรคนั้นจะมีทีมควบคุมโรค (SRRT) คอยรับแจ้งข่าวกรณีมีโรคระบาด เช่น หากพบผู้ป่วยโรคอหิวาต์ จะต้องรับแจ้งข่าวให้ รพ.สต.ทราบทันที ซึ่งได้รับความร่วมมือที่ดี 

“การทำงานนั้นเบื้องต้นเราต้องรู้ข้อมูลว่าเขามาอยู่ไหน อย่างไร เราจะติดตามได้ง่าย ทาง รพ.สต. พยายามให้ อสต.เยี่ยมบ้านและทำข้อมูลให้ทันสมัยเรื่อยๆ เพราะเปลี่ยนที่อยู่บ่อยมาก ตามการเคลื่อนย้ายแรงงาน คาดว่าในพื้นที่จะมีชาวพม่าอยู่ประมาณ 5,000 คน แต่ที่อยู่ไปๆ มาๆ ไม่ได้อยู่ประจำน่าจะมีประมาณหลักหมื่นคน เพราะบางห้องแถวอยู่กัน 3-4 ครอบครัว ถือว่าอยู่อย่างแออัดกันมาก แต่ช่วงหลังมีการแนะนำให้เจ้าของห้องแถวปรับปรุงระบบสุขาภิบาล ให้มีห้องน้ำ และดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” นายสมปอง กล่าว.