ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ผยไทยยังเสี่ยงโรคไข้หวัดนก แม้ไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2549 เนื่องจากพบการระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศเพื่อนบ้าน กำชับหน่วยบริการในสังกัดทั่วประเทศ คง 6 มาตรการรับมือโรคไข้หวัดนกอย่างเคร่งครัด โดยเฝ้าระวังสัญญาณการระบาด เตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการตรวจจับเชื้อ การรักษาพยาบาล ยาต้านไวรัส การคัดกรองที่ช่องทางเข้า-ออกประเทศและการให้ความรู้ประชาชน

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กรมปศุสัตว์ องค์กรปกครองท้องถิ่น  แม้จะไม่พบโรคนี้ในประเทศมานานกว่า 5 ปีแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่โรคนี้อาจกลับมาระบาดได้อีก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน และรายงานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ที่รายงานพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านของไทยระหว่างวันที่ 1 มกราคม -25 กรกฎาคม 2559  

ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่องใน 6 มาตรการ ที่ได้ให้ทุกจังหวัดปฏิบัติแนวเดียวกัน ได้แก่ 

1.ให้เฝ้าระวังจับตาสัญญาณการระบาดในผู้ป่วย 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง ผู้มีอาการปอดบวมหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ ผู้ป่วยปอดบวมที่พบเป็นกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในชุมชน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ป่วยเป็นปอดบวม  

2.การตรวจเฝ้าระวังตรวจจับเชื้อไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการ ในกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัย  

3.การดูแลรักษาพยาบาล ใช้แนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ และการป้องกันการติดเชื้อตามมาตรฐานไข้หวัดนก

4.เพิ่มการให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องการรักษาพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การล้างมือ หรือให้ผู้ป่วยไข้หวัดสวมหน้ากากอนามัยและหยุดพักผ่อนอยู่บ้าน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ เนื่องจากมีข้อมูลทางวิชาการพบว่า สัตว์ปีกที่ติดเชื้อเอช 7 เอ็น 9 ไม่มีอาการป่วยและไม่ตาย โดยให้ล้างมือหลังสัมผัสสัตว์ รวมทั้งไม่นำสัตว์ที่ป่วยตายผิดปกติมาขาย หรือรับประทาน   

5.เตรียมพร้อมยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย  

6.การเตรียมการตรวจคัดกรองบริเวณช่องทางเข้า-ออกประเทศ โดยไทยจะยึดปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก ได้รายงานผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ A (H5N1)ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 พบรายงานผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกแล้ว 851 ราย เสียชีวิต 450 ราย ใน 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บังกลาเทศ กัมพูชา แคนนาดา จีน จิบูตี อียิปต์ อินโดนีเซีย อิรัก ลาว พม่า ไนจีเรีย ปากีสถาน ไทย ตุรกี และเวียดนาม โดยในไทยพบผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดนกรายแรก เมื่อ ปี 2547 และผู้ป่วยรายสุดท้าย ในปี 2549 และจากนั้นยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกเพิ่มอีก โดยผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกส่วนใหญ่ จะมีประวัติการสัมผัสกับไก่ป่วย/ไก่ ที่ตายผิดปกติ

ขอความร่วมมือประชาชนหากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ รีบแจ้งแก่เจ้าหน้าที่หรือผู้นำชุมชนทันที ห้ามผู้ประกอบการค้าสัตว์ปีกนำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายมาชำแหละขาย และยึดหลัก รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก หากมีข้อสงสัย โทรปรึกษาสายด่วนของกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง