ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยุทธศาสตร์หนึ่งในการปฏิรูปประเทศยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือแนวคิดเรื่องไทยแลนด์ 4.0 โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ การบ่มเพราะธุรกิจสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ การส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็น New Growth Engine ในอนาคต ฯลฯ โดยสรุปแล้ว คือการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ จากประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก มาเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมให้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ไทยแลนด์ 4.0 ไม่ได้หมายความเฉพาะการขับเคลื่อนในมิติเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนมิติอื่นๆ ของสังคมด้วย ซึ่งในกลุ่มสาธารณสุขเองก็เป็น 1 ในองค์ประกอบของไทยแลนด์ 4.0 ทั้งในแง่การพัฒนาอุตสาหกรรมบริการด้านการแพทย์ นวัตกรรมและเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อเป็นอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต และในแง่การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา เริ่มมีการพูดถึง Healthcare 4.0 หรือ eHealth กันมากขึ้น

ทว่าในมุมมองของ นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนักสารสนเทศสุขภาพ มองว่าเส้นทางกว่าจะไปถึง Healthcare 4.0 ยังอีกยาวไกลมากๆ

นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์

ATM ในระบบสุขภาพ

หากให้แบ่งระบบบริการสุขภาพออกเป็นยุคต่างๆ นพ.นวนรรน มองว่า ยุค 1.0 ก็คือยุคของการแพทย์แผนโบราณ ส่วนยุค 2.0 คือการแพทย์แผนตะวันตกแบบในปัจจุบัน ขณะที่ยุค 3.0 การเริ่มนำเอาระบบ HA เข้ามาใช้ เริ่มมีการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ แต่ยังขาด 4.0 ก็คือการทำงานอย่างชาญฉลาด อาจจะเรียกว่า Smart Health, Smart Hospital ฯลฯ ซึ่งแฝงนัยยะของการนำระบบไอทีเข้ามาใช้ แต่ที่สำคัญคือมีระบบไอทีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลแล้ว ต้องรู้จักใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาดในการดูแลผู้ป่วย จึงจะสอดคล้องกับ Healthcare 4.0

นพ.นวนรรน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ โดยใช้คีย์เวิร์ดว่า ATM in Healthcare โดยคำๆ นี้ได้มาจาก HITAP (ไฮแทป) ซึ่งไปสัมภาษณ์ประชาชนเกี่ยวกับทิศทางระบบสุขภาพใน 20 ปีข้างหน้า และตนเองเป็นนักวิชาการที่เข้าไปให้ความเห็นต่อผลการศึกษานี้ แล้วคีย์เวิร์ดคำนี้ก็โผล่ขึ้นมาว่าประชาชนอยากเห็น ATM in Healthcare คือระบบที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลเพื่อประโยชน์ของการดูแลคนไข้

“ผมรู้สึกว่าคำนี้เป็นคำที่โดน มันเหมือนกับการกด ATM คือกดข้ามแบงก์ได้ กดข้ามจังหวัดก็ได้ แต่กับโรงพยาบาล ถ้าอยู่คนละเครือกัน ข้อมูลมันไม่ข้าม ถามว่าข้ามจังหวัดเหมือน ATM ไหม ก็ไม่ข้าม ยิ่งเป็นตัวอย่างว่าที่ประชาชนอยากเห็น ATM in Healthcare ก็คืออยากเห็นระบบที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทั้งประเทศ อันนี้น่าสนใจ” นพ.นวนรรน กล่าว

ทั้งนี้ คำว่า ATM in Healthcare มีความหมายเดียวกับระบบ Health Information Exchange (HIE) ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ นพ.นวนรรน พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในการปฏิรูประบบสาธารณสุขมาโดยตลอด โดยหลักการแล้วก็คือ ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพคนไข้ระหว่างสถานพยาบาล เช่น หากมีการ refer เกิดขึ้น โรงพยาบาลปลายทางก็สามารถเข้าถึงประวัติการรักษาผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ต้องให้คนไข้วิ่งรอกขอประวัติจากโรงพยาบาลหนึ่งมาส่งให้อีกโรงพยาบาลหนึ่ง

“ผมมีเคสตัวอย่าง เพื่อนผมมีพ่อมารักษาโรคเรื้อรังที่ รพ.รามาธิบดีต่อเนื่องมานาน วันดีคืนดี เขาจะไปตรวจเรื่องอื่นที่โรงพยาบาลทหารแห่งหนึ่ง แต่ระหว่างทางเกิดปวดท้องกะทันหัน ก็ต้องไปเข้า ER ที่โรงพยาบาลทหารแห่งนั้น หมอสงสัยว่ากระเพาะทะลุ ต้องผ่าตัด พอหมอถามว่ามีประวัติเป็นโรคอะไรมาก่อนไหม ก็บอกได้แค่ว่ามีโรคประจำตัว แต่รายละเอียดอยู่ที่ รพ.รามาฯ ซึ่งการที่เขารักษาโรคประจำตัวมันมีโอกาสใช้ยาบางอย่าง เช่น แอสไพริน ซึ่งหมอจะกังวลเพราะทำให้เลือดหยุดยาก เพราะฉะนั้น หมออยากรู้ว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ และใช้ยาอะไรอยู่บ้าง” นพ.นวนรรน กล่าว

นพ.นวนรรน กล่าวต่อไปว่า เคสแบบนี้ โดยปกติโรงพยาบาลทหารแห่งนั้นก็จะให้ญาติคนไข้มาติดต่อที่ รพ.รามาฯ มาเขียนคำร้องขอประวัติการรักษา รพ.รามาฯ ก็ใช้เวลาพิจารณาอีก เสร็จแล้วก็รีบถ่ายเอกสารหรือทำสำเนาใส่ CD ให้หมอที่ต้องการประวัติคนไข้ ซึ่งถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินคงไม่ทันการณ์ นี่คือความผิดของระบบที่ไม่เอื้อ ไม่มีโครงข่ายข้อมูล

“สุดท้ายเคสนี้ ผมขอ Access ประวัติเอง แล้วก็ถ่ายรูปยาที่ใช้ส่งไปให้ นี่คือเคสพิเศษ ถ้าเขาไม่รู้จักผม ถ้าผมไม่สามารถเข้าถึงประวัติการรักษาได้โดยง่าย เขาจะไม่มีทางได้ข้อมูลแบบนี้โดยเร็วในกรณีฉุกเฉิน นี่เป็นตัวอย่างที่โชคดีของเคสนี้ แล้วตรงนี้ทำไมเราไม่ทำให้กับคนอื่นๆ ด้วยล่ะ”นพ.นวนรรน กล่าว

ทั้งนี้ หากจะพูดถึง HIE ก็ต้องพูดถึงระบบ PHR (Personal Health Record) ด้วย ซึ่งระบบนี้เป็น 1 ในแผนดำเนินการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุขระยะ 18 เดือน ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 4 ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่ง PHR ก็คือระบบข้อมูลที่คนไข้เข้าถึงเองได้ ไม่ว่าจะไปรักษาที่ไหน โรงพยาบาลอะไร จะมีข้อมูลประวัติการรักษาต่างๆ แบบ single record ซึ่งในมุมหนึ่ง PHR ก็อาจเป็น ATM in Healthcare อย่างหนึ่ง แต่ไม่เหมือน HIE เสียทีเดียว เพราะยังมีข้อจำกัด เช่น ถ้าคนไข้ไม่คล่องในการใช้งานระบบ ข้อมูลก็ไปไม่ถึงโรงพยาบาล หรือบางกรณี การที่หมอกับหมอเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันจะคล่องตัวกว่าการที่ต้องให้ข้อมูลไปผ่านมือคนไข้ เพราะข้อมูลบางอย่างหมอไม่อยากเปิดเผยกับคนไข้ 100% เช่น ข้อมูลจิตเวช หรือข้อมูลที่ละเอียดอ่อนมากๆ จนทำให้คนไข้ตกใจหรือเข้าใจผิด ดังนั้น ถ้ามีระบบที่หมอคุยกันเองได้ ก็จะทำให้ดูแลคนไข้ได้ดีขึ้น

“มาตรฐานข้อมูล” หัวใจของ ATM in Healthcare 

นพ.นวนรรน กล่าวอีกว่า การจะสร้าง ATM in Healthcare หรือ HIE ให้เกิดขึ้นได้ สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับต้นๆ ไม่ใช่การเลือกว่าจะใช้ซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชั่นไหนเป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูล เพราะหากทุบโต๊ะว่าต้องใช้แอปพลิเคชั่นเดียวทั้งประเทศ จะมีคนที่รู้สึกว่าซอฟต์แวร์นี้ไม่ตอบโจทย์แล้วจะรู้สึกอึดอัด

“วิธีที่ดีกว่าคือใครใคร่ใช้อะไรก็ใช้ โดยมีมาตรฐานกลางให้ทุกแอปฯ คุยกันรู้เรื่อง ซึ่งก็จะทำให้เชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากันโดยไม่ต้องมาทะเลาะกันว่าจะใช้ซอฟต์แวร์ตัวไหน พูดแบบนี้คนส่วนใหญ่อาจจะมองไม่ออกเพราะติดภาพว่าต้องเป็นแอปพลิเคชั่นเดียวกันถึงจะเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ แต่ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าเวลาส่งอีเมลหากัน แต่ละคนใช้ผู้ให้บริการอีเมลเจ้าเดียวกันไหม  ก็ไม่ คุณใช้ Yahoo ผมใช้ Gmail ถามว่าส่งเมลไปแล้วคุณได้รับไหม ก็ได้รับ เพราะมันมีมาตรฐานอีเมลเกิดขึ้นก่อน คนยอมรับว่าจะส่งเมลต้องส่งด้วยมาตรฐานนี้ เพราะฉะนั้นทุกเจ้าที่ทำอีเมล ใครจะทำก่อนทำหลัง ยังไงก็ต้องใช้มาตรฐานนี้ นี่คือโจทย์เชิงนโยบายว่าถ้าเรามีมาตรฐานข้อมูลคนไข้ เราจะออกแบบมาตรฐานยังไง จะใช้รหัสมาตรฐานอะไร” นพ.นวนรรน กล่าว

ถามว่าตอนนี้เมืองไทยมีมาตรฐานข้อมูลแบบนี้หรือไม่ คำตอบคือไม่มี แม้จะมีข้อมูล 43 แฟ้มของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็ถือเป็นมาตรฐานข้อมูลประเภทหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ครบถ้วนและยังมีการบ้านต้องทำอีกเยอะถ้าจะกำหนดมาตรฐานขึ้นมา

“ปัญหาคือเรายังไม่ได้เริ่มเสียที เพราะทุกคนคิดแต่ว่าเมื่อไหร่เราจะใช้แอปฯ เดียวกัน แต่ผมคิดว่าตอนนี้ผู้ใหญ่เริ่มเข้าใจแล้วว่าใช้แอปฯ เดียวมันไม่ Work” นพ.นวนรรน กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อถามว่า eHealth ของไทยอยู่ในขั้นไหน นพ.นวนรรน กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดูแลเรื่องการนำระบบไอทีเข้ามาใช้กับงานด้านสุขภาพ มีการสร้าง Health Data Center (HDC) ตามจังหวัดต่างๆ และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในจังหวัดเดียวกัน เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลต่างๆ มี Pool ตรงกลางแล้ว และเชื่อมต่อข้อมูลเข้ามาที่ส่วนกลางทุกวัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลส่วนใหญ่ยังเป็นข้อมูลในเชิงบริหารมากกว่าข้อมูลเชิงการรักษาพยาบาลแต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข

“สิ่งที่เป็นปัญหาคือนอกจากไม่มีข้อมูลการรักษาพยาบาลมากนักแล้ว มันยังอยู่เฉพาะโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขด้วย ถัดไปที่เป็นปัญหาคือเรื่อง Performance ที่ยังมีระบบล่ม ระบบหน่วง หรือมีความเสี่ยงเรื่อง Security พอสมควร แต่เป็นจุดเริ่มต้นของ HIE ได้ แต่ยังมีงานต้องทำอีกเยอะโดยเฉพาะมาตรฐานข้อมูลยังไม่เกิดเลย” นพ.นวนรรน กล่าว

ต้องมีกลไกการนำและอภิบาลระบบ

นพ.นวนรรน กล่าวอีกว่า การจะสร้างให้เกิดระบบ HIE หรือ ATM in Healthcare ให้เกิดขึ้นได้จริง ต้องต่อจิ๊กซอว์ 7 ชิ้นไปในเวลาไล่เลี่ยกัน เพราะหากทำแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลือก็จะไม่เกิดขึ้น

“ใน eHealth มันมีองค์ประกอบที่สำคัญ 7 อย่าง คือ 

1.กลไกการนำและอภิบาลระบบ (Leadership and Governance)

2.ยุทธศาสตร์และการลงทุน มีโรดแม็ป มีแผนลงทุนชัดเจนว่าจะทำอะไร เมื่อไหร่ 

3.มีโครงสร้างพื้นฐาน คือโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบเซิร์ฟเวอร์ 

4.มาตรฐานข้อมูล 

5.แอปพลิเคชั่น 

6.กฎหมายและนโยบาย เช่น เรื่องการรักษาความลับข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

 และ 7.บุคคลากร

ถามว่า 7 อย่างนี้ จะทำทุกอย่างโดยไม่มีบุคคลากรได้ไหม ก็เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าทำแค่เรื่องคนอย่างเดียวแต่ไม่มีทิศทางการนำ มันก็สะเปะสะปะ” นพ.นวนรรน กล่าว

นพ.นวนรรน กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้เรายังไม่ได้ทำจิ๊กซอว์หลายชิ้น เช่น มาตรฐานข้อมูลยังแทบไม่มี ตัวบุคคลากรก็ยังขาดแคลน กฎหมายก็ยังต้องปรับปรุงเพิ่ม เช่น ถ้ามีระบบ HIE แล้วในกรณีฉุกเฉินที่หมอไม่สามารถขออนุญาตคนไข้ได้ หมอจะมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลหรือไม่ เป็นต้น ส่วนจิ๊กซอว์ที่คิดว่าพอใช้ได้คือเรื่องโครงสร้างพื้นฐานกับแอปพลิเคชั่นที่มีแล้ว

นพ.นวนรรน ย้ำว่า ทั้ง 7 เรื่องนี้ต้องค่อยๆ พัฒนา แต่ต้องทำทั้งหมดไปพร้อมกัน แต่ถ้าให้จัดลำดับความสำคัญแรกสุด คิดว่าอยากเห็นกลไกการนำและอภิบาลระบบเกิดขึ้นก่อน

“ตรงนี้หมายถึงระบบสุขภาพทั้งระบบ ไม่ใช่แค่เรื่องไอที เรายังขาดกลไกที่มาบูรณาการและมีอำนาจสั่งการในเชิงนโยบายให้กับสถานพยาบาลซึ่งมีอยู่หลายสังกัดมาก อย่างเช่นเรื่องมาตรฐานข้อมูล ต่อให้กระทรวงสาธารณสุขสั่งการว่าจะเอาแบบนี้ แต่โรงพยาบาลสังกัดอื่นเขาไม่เอาด้วยก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นต้องเอาผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมานั่งคุยหาฉันทามติกัน หรือมีกลไกกลางที่สามารถสั่งการได้ เช่น มีบอร์ดใหญ่ด้าน eHealth ที่มีอำนาจสั่งการได้” นพ.นวนรรน กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวมระบบสุขภาพยังไม่มีกลไกการนำและอภิบาลระบบเลย การจะให้เกิดกลไกกลางในเรื่อง eHealth ด้วยคงไม่ใช่เรื่องง่ายในจังหวะนี้

“ดูแล้ว eHealth เป็นเรื่องอีกไกลมาก อีก 20-30 ปี แต่ผมคาดหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคต นักนโยบายที่ชาญฉลาดจะเริ่มเห็นประเด็นว่าเราต้องหยิบเอาเรื่องนี้ขึ้นมาทำ” นพ.นวนรรน กล่าวทิ้งท้าย

สัมภาษณ์โดย: ภัทรภร นิภาพร pingni1997@gmail.com