ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนคลินิกเสริมความงามที่นำเข้าหมอจากประเทศเกาหลีหรือต่างแดน เพื่อดึงดูดลูกค้าใช้บริการ ถือว่ากระทำผิดกฎหมาย เข้าข่ายใช้หมอเถื่อน มีโทษทั้งตัวหมอเถื่อนและผู้ดำเนินการ ชี้หมอที่มาจากต่างประเทศทั้งทั่วไปและเฉพาะทาง จะต้องสอบและได้รับใบประกอบวิชาชีพในไทย จึงมีสิทธิ์รักษา

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้วงการศัลยกรรมความงามในไทยเป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมจากประชาชนมาก  มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ปีละประมาณ 14,000 ล้านบาท จึงมีการแข่งขันกันมากทั้งเรื่องความรู้ความชำนาญของผู้ดำเนินการและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการให้บริการ 

ขณะนี้ สบส.ได้ขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลเสริมความงาม ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับคลินิกเวชกรรมทั่วไปและเฉพาะทางรวม 1,458 แห่งทั่วประเทศหรือประมาณร้อยละ 13 ของคลินิกเวชกรรมทั่วไปและเฉพาะทางที่มีทั้งหมด 10,904 แห่ง ทุกแห่งต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ประกาศตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ทั้งลักษณะ ชื่อสถานพยาบาล การให้บริการ การแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล อัตราค่ารักษา ค่าบริการและสิทธิของผู้ป่วย

อธิบดี สบส.กล่าวต่อว่า กรณีที่คลินิกเสริมความงาม มีการนำศัลยแพทย์เชี่ยวชาญด้านความงามจากต่างประเทศเช่นประเทศเกาหลี เป็นต้น เข้ามาให้บริการในคลินิกไม่ว่าจะให้บริการประจำหรือไม่ประจำก็ตาม จะต้องดำเนินการให้ถูกกฎหมาย  โดยต้องแจ้งขออนุญาตกับ สบส. และต้องสอบใบประกอบวิชาชีพเพื่อประกอบวิชาชีพในประเทศไทยให้ได้ก่อน จึงจะมีสิทธิ์ให้การรักษา ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน  หากใช้แพทย์ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์เชี่ยวชาญหรือไม่ก็ตาม จะเข้าข่ายว่าคลินิกแห่งนั้นใช้หมอเถื่อน โดยหมอเถื่อนรายนั้นมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ดำเนินการคลินิก มีความผิดฐานปล่อยให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่แพทย์มาดำเนินการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“สบส.จะส่งทีมตรวจสอบเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และขอความร่วมมือประชาชนแจ้งเบาะแสคลินิกที่มีพฤติกรรมที่กล่าวมา ที่เฟซบุ๊คสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ หรือเฟซบุ๊คมือปราบสถานพยาบาลเถื่อน หรือโทรแจ้งสายด่วนกรมสบส.หมายเลข 02-1937999 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการทางกฎหมายทันที” อธิบดี สบส.กล่าว

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ตามกฎกระทรวง ได้กำหนดให้คลินิกเสริมความงามจะต้องมีมาตรฐานครบ 4 ด้าน ได้แก่

1.สถานที่ต้องสะอาด มีห้องตรวจหรือห้องให้การรักษาเป็นสัดส่วน มิดชิด ปลอดภัยต่อผู้รับบริการ มีเครื่องมือในห้องผ่าตัดเล็กและผ่าตัดใหญ่ได้มาตรฐาน

2. ผู้ที่ยื่นคำขออนุญาตดำเนินการสถานพยาบาลต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดูแลสถานพยาบาลได้อย่างใกล้ชิดตลอดเวลาทำการ

3.ชนิดและจำนวนเครื่องมือแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้ประจำสถานพยาบาล ต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 

และ 4. ชื่อสถานพยาบาลต้องไม่ขัดแย้งกับกฎกระทรวงว่าด้วยชื่อ และไม่ฝ่าฝืนการโฆษณา ต้องไม่ใช้คำที่มีลักษณะชักชวน เป็นเท็จ หรือโอ้อวดเกินความจริง สื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด การโฆษณาความเชี่ยวชาญด้านความงามของคลินิก อนุญาตให้เฉพาะแพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตรหรืออนุมัติจากแพทยสภาเท่านั้น และให้คลินิกทุกแห่งจัดทำบันทึกรายงานการรักษาผู้ป่วยทุกราย และมีระบบส่งรายงานประจำปีให้สำนักพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะด้วย