ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ หรือ NHS กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เว็บไซต์บีบีซีได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาในขณะนี้ว่า คริส ฮอพสัน ประธานบริหารบริการเอ็นเอชเอสโพรไวเดอร์ (NHS Providers) ออกมาวิพากษ์แผนงบประมาณและกำลังคนในปัจจุบันซึ่งไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนบริการสุขภาพแห่งชาติ (เอ็นเอชเอส) และเผยถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแผนงบประมาณ รวมถึงปรับลดงบประมาณบางด้านลง ท่ามกลางสถิติเวลารอพบแพทย์และการจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลที่ล่าช้าซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์

ด้านรัฐบาลอังกฤษยืนยันว่ากำลังอยู่ระหว่างผันงบประมาณกว่า 10,000 ล้านปอนด์ (ราว 454,057 ล้านบาท) ตามที่เอ็นเอชเอสอังกฤษร้องขอ ขณะที่ เจเรมี ฮันท์ รมว.สาธารณสุขก็เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องให้เอ็นเอชเอสให้บริการตลอด 7 วัน ดังที่มีการศึกษาพบความสัมพันธ์ชัดเจนระหว่างผลลัพธ์ด้านคนไข้ที่ย่ำแย่และการให้บริการที่ไม่สม่ำเสมอในช่วงสุดสัปดาห์

เนื่องจากข้อมูลระบุว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มเสียชีวิตสูงขึ้นร้อยละ 16 หากรับเข้ารักษาในวันอาทิตย์เมื่อเทียบกับในวันพุธ โดยกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นพ้องว่าผู้ที่เดินทางมาโรงพยาบาลในวันสุดสัปดาห์มักมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงกว่าผู้ที่เดินทางมาโรงพยาบาลระหว่างสัปดาห์

คริส ฮอพสัน ประธานบริหารบริการเอ็นเอชเอสโพรไวเดอร์ (NHS Providers)

ในขณะที่ คริส ฮอพสัน ประธานบริหารเอ็นเอชเอสโพรไวเดอร์ วิจารณ์ว่าเอ็นเอชเอสกำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันหนักหน่วงที่สุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมกันนี้ยังได้ฝากไปถึง รมว.สาธารณสุขและเครือข่ายที่เรียกร้องให้เอ็นเอชเอสให้บริการอย่างต่อเนื่องตลอด 7 วันโดยระบุว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ด้วยกำลังคนและงบประมาณที่มีในปัจจุบัน กล่าวคือ

เอ็นเอชเอสโพรไวเดอร์อันเป็นตัวแทนโรงพยาบาลในอังกฤษออกมายอมรับว่าหากไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเร่งด่วนก็จำเป็นจะต้องลดจำนวนพนักงาน เก็บค่าบริการ หรือใช้มาตรการคัดกรองการใช้บริการ (เช่น กรณีการผ่าตัดไม่เร่งด่วน)โดยชี้ว่าโรงพยาบาลฉุกเฉินราวร้อยละ 80ในอังกฤษต่างประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณเทียบกับตัวเลขร้อยละ 5 เมื่อ 3 ปีก่อน ขณะที่อัตราการพลาดเป้าระยะเวลาให้บริการในแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินก็พุ่งขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 90   

มีการวิเคราะห์ว่าประสิทธิภาพการให้บริการของเอ็นเอชเอสอังกฤษเริ่มตกต่ำลงในระยะหลัง สอดคล้องกับตัวเลขงบประมาณในช่วง  5 ปีที่ผ่านมาซึ่งถือว่าน้อยที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งเอ็นเอชเอส และเพื่อที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว คณะรัฐมนตรีอังกฤษจึงตัดสินใจอัดฉีดเงินก้อนใหญ่ที่สุดในปีงบประมาณ 2559-2560 นี้ แต่ก็เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าตัวเลขที่ได้รับในปีงบประมาณถัดไปจะปรับลดลง

ขณะเดียวกันเชื่อว่าการอัดฉีดเงินน่าจะส่งผลดีระดับหนึ่ง แต่ยังคงไม่อาจแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะในส่วนการให้บริการต่อเนื่องตลอด 7 วัน จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลอังกฤษมีตัวเลือกเพียง 3 ข้อ ได้แก่ อัดฉีดเงินให้มากขึ้น หรือยอมรับความตกต่ำด้านมาตรฐานบริการ หรือยุติบริการเอ็นเอชเอสบางด้าน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทางใดก็ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลทั้งสิ้น

เอ็นเอชเอสได้รับงบประมาณเพียงพอแล้วหรือไม่

ฮอพสัน ชี้ว่าตัวเลขโรงพยาบาลที่ขาดทุนและอัตราการพลาดเป้าระยะเวลารอสำหรับแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน สะท้อนให้เห็นปัญหาของตัวระบบเอง ไม่ใช่ปัญหาที่มาจากความบกพร่องของการบริหารจัดการ ดังที่บุคลากรส่วนหน้าของเอ็นเอชเอสยืนกรานว่า ไม่สามารถให้การรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติด้วยงบประมาณที่มีอยู่

ด้วยเหตุนี้แนวคิดที่จะผลักดันให้เอ็นเอชเอสให้บริการอย่างต่อเนื่องตลอด 7 วันจึงลำบากยิ่ง

ขณะเดียวกันฮอพสันมองว่าควรอุดหนุนงบประมาณให้แก่เอ็นเอชเอสผ่านการจัดเก็บภาษี ทั้งนี้ยืนยันด้วยว่าผู้บริหารของเอ็นเอชเอสต่างพยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะประหยัดงบประมาณและให้บริการอย่างเต็มกำลัง

ดังข้อมูลชี้ว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีโรงพยาบาลในอังกฤษกว่า 50 แห่งที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าของระยะเวลารอการรักษาเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาขาดทุน โดยที่ไม่มีการเก็บค่าปรับการพลาดเป้าสำหรับบริการแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน มะเร็ง และงานประจำ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาประสิทธิภาพการให้บริการที่ย่ำแย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ดังเช่นหนึ่งในโรงพยาบาลเครือข่ายตัดสินใจชะลอการรักษาไม่เร่งด่วนสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนและผู้ติดบุหรี่ไปถึง 1 ปีเพื่อบรรเทาการขาดทุน

อย่างไรก็ตาม แอมเบอร์ รัดด์ รมว.มหาดไทยโต้ข้อคิดเห็นของฮอพสันที่ชี้ว่าไม่สามารถให้บริการเอ็นเอชเอสได้อย่างต่อเนื่องตลอด 7 วันโดยยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขและทางการได้ประสานกับประธานบริหารของเอ็นเอชเอสแล้วเกี่ยวกับตัวเลขงบประมาณที่จำเป็น และทางการก็ได้อนุมัติงบประมาณตามตัวเลขที่เสนอมา

แผนงบประมาณในสหราชอาณาจักร

ด้านนักวิเคราะห์เสนอว่า รัฐบาลไม่ควรมองข้ามเสียงเตือน และเร่งแก้ไขก่อนที่ปัญหาการให้บริการจะลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตเต็มรูปแบบโดยแย้งว่าการตั้งความคาดหวังให้บุคลากรที่ต้องแบกรับความกดดันการให้บริการตามเป้าหมายใหม่ (บริการตลอด 7 วัน) เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าเวลารอการรักษา และลดภาระขาดทุนนั้น ไม่สะท้อนความเป็นจริง

และจากปัญหาการขาดแคลนงบประมาณที่ผ่านมาทำให้เอ็นเอชเอสไม่สามารถให้บริการที่มีคุณภาพและบรรลุเป้าหมายการปฏิบัติได้ ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณที่พอเหมาะเพื่อให้เอ็นเอชเอสให้บริการได้อย่างเหมาะสม

แรงกดดันดังกล่าว ส่งผลให้เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาไอร์แลนด์เหนือได้อนุมัติงบประมาณพิเศษ 72 ล้านปอนด์ (ราว 3,269  ล้านบาท) เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนงบประมาณด้านบริการสุขภาพ รวมตัวเลขการอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติมแก่ภาคการสาธารณสุขแล้ว 200 ล้านปอนด์ (ราว 9,081 ล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2559-2560

เช่นเดียวกับสกอตแลนด์ซึ่งประกาศเพิ่มอัตรากำลังขั้นต่ำเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในบริการเอ็นเอชเอส

ขณะที่เวลส์ประกาศไว้ตั้งแต่ธันวาคมปีก่อน ถึงแผนดันงบประมาณเอ็นเอชเอส 278 ล้านปอนด์ (ราว 12,622 ล้านบาท)ในแผนงบประมาณปี 2559-2560

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์บีบีซี : Seven-day NHS 'impossible under current funding levels'

แปลและเรียบเรียงโดย: ภัทรภร นิภาพร pingni1997@gmail.com