ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แกนนำเครือข่ายทันตแพทย์ฯ ยืนยัน พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฉบับใหม่ไม่ฟังเสียงหมอฟัน ระบุ ทันทีที่ประกาศใช้เกิดปัญหาทั่วประเทศแน่ ซัด RSO ยิ่งทำให้ภาระงานมากขึ้น ย้ำทั่วโลกไม่มีใครเอาเจ้าหน้าที่มาเฝ้าเครื่องเอกซเรย์

ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ แกนนำเครือข่ายทันตแพทย์ภาครัฐและเอกชน ชมรมทันตะอาสา เปิดเผยว่า พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 เขียนขึ้นโดยไม่มีการหารือกับผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทันตกรรมที่จะถูกกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมด้วย โดยทันทีที่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้จะเกิดผลกระทบใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.กฎหมายกำหนดหรือบังคับให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) 2.เครื่องเอ็กซเรย์ทุกเครื่องในประเทศไทยจะต้องไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ 

"การควบคุมของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติตามกฎหมายฉบับนี้ ทำให้เราไม่สามารถรักษาคนไข้ได้อย่างเป็นปกติ" ทพ.เผด็จ กล่าว

ทพ.เผด็จ กล่าวว่า พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฯ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ RSO ประจำอยู่กับเครื่องเอ็กซเรย์จึงจะสามารถทำงานได้ และที่ผ่านมาก็มีหลักฐานว่ามีกระบวนการที่พยายามจะให้เกิดการอบรมและจัดสอบ RSO โดยเรียกเก็บค่าดำเนินการในราคาสูง ซึ่งสะท้อนถึงความไม่โปร่งใสในนโยบายที่กำลังดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่เครือข่ายทันตแพทย์ร่วม 200 คน เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ก็มีการประชุมร่วมกันในวันถัดมา และปลัด วท.สรุปว่า 1.ยืนยันว่าต้องมีการขึ้นทะเบียนเครื่องเอ็กซเรีย์ โดยคิดค่าดำเนินการ 1,000 บาท และให้ต่ออายุทุกๆ 5 ปี 2.ให้ทันตแพทย์เป็นเจ้าหน้าที่ RSO โดยอัตโนมัติ 3.ให้ทุกฝ่ายช่วยกันร่างระเบียบหลักปฏิบัติในการทำงานเพื่อให้คนไข้ปลอดภัย

"แน่นอนว่าข้อ 3 ยอมรับได้ แต่ลองดูข้อ 1 กับ 2 โดยข้อแรกคือต้องเอาเครื่องไปขึ้นทะเบียน นั่นหมายความว่าเอาเครื่องเข้าไปอยู่ในกฎหมายของเขา และข้อ 2 คือ ให้ทันตแพทย์เป็น RSO อัตโนมัติ นั่นก็หมายความว่าเอาคนเข้าไปอยู่ภายใต้กฎหมายของเขาอีก พอดูต่อไปก็จะพบว่าในกฎหมายระบุไว้ว่าเจ้าหน้าที่ RSO จะต้องทำอะไรบ้าง หนึ่ง สอง สาม สี่ ซึ่งทันตแพทย์มีหน้าที่รักษาคน ไม่ใช่มาตรวจสอบรังสีอะไรแบบนี้ นั่นจะยิ่งกลายเป็นงานที่ถมขึ้นมาและไม่เกิดประโยชน์ใดๆ" ทพ.เผด็จ กล่าว

ทพ.เผด็จ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ RSO ทั่วโลกจะทำงานอยู่ในกรมกอง มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดกัมตภาพรังสีรั่วไหล แต่ไม่มีประเทศใดในโลกที่มี RSO อยู่ในคลินิก อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้บังคับให้ต้องมีเจ้าหน้าที่ RSO เฝ้าเครื่อง ถ้าไม่มีก็ทำงานไม่ได้

"ยกตัวอย่างในอุตสาหกรรมอาหาร มีการเอาเครื่องเอ็กซเรย์มาส่องผัก ซึ่งจำเป็นต้องควบคุม เพราะคนเหล่านั้นเป็นพนักงานที่ไม่ได้มีความรู้เฉพาะ ส่วนเราเรียนมาทางการแพทย์ ถูกฝึกให้ใช้เครื่องเอ็กซเรย์ จึงไม่ควรจะต้องย้อนกลับไปเรียนรู้อะไรที่ไม่สมเหตุสมผล และหากพิจารณาจากข้อสอบที่เขานำมาจัดสอบ RSO จะพบว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรู้เลย เป็นฟิสิกส์ระดับชั้น ม.ปลาย เป็นการคำนวณต่างๆ ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้คนปลอดภัยขึ้นเลย" ทันตแพทย์รายนี้ ระบุ

ทพ.เผด็จ กล่าวว่า ทางออกของปัญหานี้ถูกเปิดช่องเอาไว้แล้วใน พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฯ มาตรา 25 ประกอบ 18 ซึ่งมีสาระสำคัญคือสามารถยกเว้นเครื่องเอ็กซเรย์ทางการแพทย์ให้อยู่นอกเหนือจากกฎหมายฉบับนี้ได้ ไม่เช่นนั้นเครื่องเอ็กซเรย์ทางการแพทย์ทั่วประเทศจะได้รับผลกระทบหมด ส่วนเครื่องเอ็กซเรย์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ คิดว่าหากต้องการควบคุมก็ควบคุมไป ไม่มีปัญหาอะไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปลัด วท.ยันเครื่องเอ็กซเรย์หมอฟันต้องขึ้นทะเบียนเพื่อให้ติดตามได้