ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์ปัญหาด้านสาธารณสุขที่กำลังขยายตัวจากการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัดของประเทศจำเป็นต้องมีมาตรการหรือแนวทางในการจัดการด้านสาธารณสุขที่ดี โดยอาศัยศักยภาพและความพร้อมของหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ทั้งนี้หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญคือ สถานบริการสาธารณสุข และด่านสาธารณสุข

ขอบคุณภาพจาก http://newsthailand2013.blogspot.com

สถานบริการสาธารณสุขสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษประกอบด้วย โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 15 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 101 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 1,234 แห่ง

เฉพาะสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ในอำเภอที่เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย โรงพยาบาลทั่วไป 8 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 16 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 147 แห่ง ใน 23 อำเภอ 10 จังหวัด

และหากพิจารณาระดับโรงพยาบาลพบว่า ในอำเภอที่เป็นที่ตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีระดับปฐมภูมิหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในสัดส่วนมากที่สุด ถึงร้อยละ 85.9 รองลงมาเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลาง โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็กในสัดส่วนเท่ากับโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ และอื่นๆ ตามลำดับ

ซึ่งนับว่ามีความจำเป็นในการวางแผนพัฒนายกระดับสถานบริการสาธารณสุขให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการรองรับประชาชนหลากหลายกลุ่มที่เข้ามาในพื้นที่ เช่น ยกระดับจาก รพช.ขนาดเล็กเป็น รพช.ขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ ฯลฯ ตลอดจนวางแผนพัฒนาระบบบริการและเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วยในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดและข้ามจังหวัด หากเกิดปัญหารุนแรง เช่น โรคระบาด สารเคมีรั่วไหล ที่ไม่สามารถจัดการเฉพาะพื้นที่ได้

สำหรับกำลังคนด้านสุขภาพใน 4 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลวิชาชีพ ใน 10 จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษพบว่า

มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ระหว่าง 1:2,788 -1:5,644 คน ใน พ.ศ. 2557 และเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขที่1:4,000 คนแล้วมีถึง 7 จังหวัดที่สูงกว่าเกณฑ์ คือ ตราด กาญจนบุรี ตาก เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย และสงขลา และ 3 จังหวัดที่ต่ำกว่าเกณฑ์ คือ สระแก้ว นครพนม และนราธิวาส

ในส่วนของทันตแพทย์ พบว่าอัตราส่วนทันตแพทย์ต่อประชากรอยู่ระหว่าง 1:8,531-1:14,760 ใน พ.ศ.2557 และเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขที่1:10,000 คนจะเห็นว่าทุกจังหวัดยกเว้นตราด กาญจนบุรี และนราธิวาส ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

ในขณะที่ พยาบาลวิชาชีพ พบอัตราส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรอยู่ระหว่าง 1:368-1:739 ใน พ.ศ.2557 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดจะเห็นว่ามีเพียง สระแก้ว ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

และในส่วนของเภสัชกรพบว่าทุกจังหวัดในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีอัตราส่วนที่สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม หากเกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเต็มรูปแบบอาจส่งผลต่อภาระงานของกำลังคนด้านสุขภาพในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องมีการเตรียมแผนการรองรับปัญหาด้านกำลังคนในจังหวัด

ในส่วนของด่านสาธารณสุขในจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น พบว่ามีด่านสาธารณสุขทั้งหมด 41 แห่ง จำแนกเป็น 2 ด่านใหญ่ๆ คือ

1. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ มีทั้งหมด 26 แห่ง เป็นด่านในสังกัดกรมควบคุมโรค 23 แห่ง และสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3 แห่ง

2. ด่านอาหารและยา มีทั้งหมด 15 แห่ง เป็นด่านในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 9 แห่ง และสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 6 แห่ง และยังพบว่า ตราดและกาญจนบุรียังไม่มีด่านอาหารและยา ส่วนจังหวัดอื่นนั้นมีแต่ไม่ครบเท่าด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

เมื่อพิจารณาระดับของด่านและบุคลากรที่ปฏิบัติงานในด่านสาธารณสุข พบว่า ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศในจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 26 แห่งมีบุคลากรปฏิบัติงานอยู่จำนวน 42 คน ยังขาดแคลนอัตรากำลังจำนวน 43 คน

ในขณะเดียวกัน ด่านอาหารและยาในจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 15 แห่ง พบว่าเกือบครึ่งเป็นด่านที่ไม่มีห้องปฏิบัติการ มีบุคลากรปฏิบัติงานที่ด่าน 29 คน ขาดแคลนอัตรากำลังอีก 15 คน

จากข้อมูลดังกล่าวทำให้บุคลากรต้องมีภาระงานที่หนักเกินกำลัง เช่น ด่านเชียงแสนและเชียงของประสบปัญหาบุคลากรต้องวิ่งรอกปฏิบัติงานทั้ง 2 ด่านซึ่งห่างกันถึง 60 กิโลเมตร เป็นต้น

จากสถานการณ์ปัญหาของสถานบริการสาธารณสุข และด่านสาธารณสุขในจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว หากไม่มีการเตรียมแผนการรองรับปัญหาด้านกำลังคน และยกระดับด่านสาธารณสุข อาจส่งผลกระทบต่อการควบคุมโรคติดต่อจากการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างด้าว และการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจจะมีเข้ามามากขึ้นตามการขยายตัวของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

ตอนต่อไป (ตอนจบ) แผนยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(พ.ศ.2560-2564)

เรียบเรียงจาก

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (ร่าง)แผนยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2560-2564. นนทบุรี :กระทรวงสาธารณสุข, 2559, หน้า 22-28.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาสาธารณสุขเขตเศรษฐกิจพิเศษ

แนวโน้มของโรคและความเจ็บป่วยใน ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’

แผนยุทธศาสตร์สาธารณสุขรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.2560-2564