ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัด สธ. ชี้บุคลากรต้องเท่าทันความเปลี่ยนแปลง ระบุ องค์กรในอนาคตต้องลดสัดส่วนคนที่เอาแต่ค้าน-เพิ่มจำนวนคนที่ให้ความร่วมมือ ด้าน “หมอโกมาตร” ชี้ยุทธศาสตร์กำลังคนที่ผ่านมาติดกับดักความขาดแคลน จึงมุ่งแต่ผลิตคนมาเติม แต่ละเลยบุคลากรในระบบกว่า 4 แสนราย

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 มีการจัดการประชุมระดับชาติ “National Forum on Human Resources for Health 2017: การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบสุขภาพ (HR4H Forum 2017)” ภายใต้แนวคิดคุณค่าคน คุณค่างาน บันดาลสุข ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยมีบุคลากรด้านสาธารณสุขจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 2,000 ราย

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานการประชุม กล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพบุคลากร: ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน ทำอย่างไร?” ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สธ.จึงต้องเปลี่ยนตาม โดยในอนาคตทุกคนจะต้องเผชิญกับความเป็นสังคมเมือง สังคมผู้สูงอายุ โลกที่เชื่อมต่อการค้าการลงทุน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นหากไม่ติดตามเรื่องเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ทัน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า งานด้านสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) แทบทั้งสิ้น โดยจาก 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ จะมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่เกี่ยวพันกับงานด้านสุขภาพ แต่ที่อาจจะชัดเจนที่สุดคือเป้าหมายที่ 3 ซึ่งให้ความสำคัญกับ GOOD HEALTH AND WELL-BEING ฉะนั้นในส่วนของ สธ.เองก็จำเป็นต้องปรับตัว โดยขณะนี้ สธ.ได้กำหนดวิสัยทัศน์เป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพที่รวมพลังสังคมเพื่อประชาชนสุขภาพดี และมีหน้าที่พัฒนาและอภิบาลระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน มีเป้าประสงค์สูงสุด (Goal) คือประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน

สำหรับเป้าหมายในระยะ 20 ปี ของ สธ. ได้แก่ ประชาชนสุขภาพดี คือต้องลดอัตราการตายก่อนวัยอันควรและคนไทยมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่มีความสุข คือต้องมีบุคลากรที่เพียงพอกระจายอย่างทั่วถึง และได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ที่สำคัญคือต้องมีความสุขและมีความภูมิใจในการทำงาน ระบบสุขภาพยั่งยืน คือต้องมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเป็นธรรม ซึ่งชี้วัดจากรายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่เกิน 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และรัฐมีรายจ่ายด้านสุขภาพไม่เกิน 20% ของรายจ่ายทั้งหมด

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากต้องการให้บรรลุเป้าหมาย สธ.ต้องดำเนินแผนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเป็นเลิศใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเลิศ (Prevention & Promotion Excellence) 2.บริการเป็นเลิศ (Service Excellence) 3.บุคลากรเป็นเลิศ (People Excellence) 4.บริหารเป็นเลิศด้วยธรรมาภิบาล (Governance Excellence) โดยในส่วนของบุคลากรเป็นเลิศนั้นต้องกำหนดคุณค่าหลัก (Core Value) 4 ประการ หรือ MOPH

ทั้งนี้ ประกอบด้วย

M : Mastery หรือเป็นนายตนเอง คือเป็นบุคคลที่หมั่นฝึกฝนตนเองให้มีศักยภาพ ยึดมั่นในความถูกต้อง มีวินัย ปฏิบัติตามกฎระเบียบ บนพื้นฐานของการมีสำนึก รับผิดชอบ คุณธรรม และจริยธรรม

O : Originality หรือเร่งสร้างสิ่งใหม่ คือสร้างสรรค์นวัตกรรม สิ่งใหม่ ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบสุขภาพ

P : People centered หรือใส่ใจประชาชน คือต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการทำงานเพื่อประโยชน์อันดีแก่ประชาชน โดยใช้หลักเข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้

H : Humility หรืออ่อนน้อมถ่อมตน คือมีสัมมาคารวะ มีน้ำใจ ให้อภัย รับฟังความเห็น เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

“มีการศึกษาพบว่า 30% ของความสำเร็จขององค์กร เกิดจากการปฏิบัติตามค่านิยมองค์กร” นพ.สมศักดิ์ กล่าว และว่า ที่ผ่านมามีคำกล่าวว่าคนเข้าทำงานเพราะองค์กรแต่จากไปเพราะหัวหน้า ซึ่งส่วนตัวก็ไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างความผูกพันองค์กรคือต้องเริ่มที่ผู้บริหารก่อน

นอกจากนี้ หากพิจารณาสัดส่วนบุคลากรในองค์กรโดยจำแนกตามการมีส่วนร่วม (Gallup’s engagement ratio) จะพบว่าองค์กรทั่วๆ ไปมีสัดส่วนบุคลากรที่ ให้ความร่วมมือ (Engaged) ไม่ให้ความร่วมมือ (Not Engaged) และพวกค้านทุกเรื่อง (Actively Disengaged) อยู่ที่ 33% 49% และ 18% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนองค์กรให้กลายเป็นองค์กรในระดับ World-Class ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีสัดส่วน 67% 26% และ 7% ตามลำดับ

“เราต้องเพิ่มสัดส่วนบุคลากร Engaged ให้มากขึ้น และลดกลุ่มคนที่เอาแต่ค้านทุกเรื่อง หรือ Actively Disengaged ลง”นพ.สมศักดิ์ กล่าว

รองปลัด สธ. กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอในการทำงานคือทุกคนต้องมีส่วนร่วมและมีความเป็นเจ้าของอย่างสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันเมื่อทำงานไปก็ต้องเรียนรู้ไป และสามารถติงกันได้แบบพี่ๆ น้องๆ โดยบางครั้งต้องใช้สมอง แต่ในบางครั้งก็ต้องใช้หัวใจเพื่อให้เกิดพลังเครือข่าย ที่สำคัญก็คือต้องกล้าคิดนอกกรอบคือทำในสิ่งที่ไม่เคย และอยากฝากทิ้งท้ายว่างานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่ครอบครัวและตัวเองสำคัญมาก

ด้าน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สธ. ในฐานะผู้จัดการประชุม กล่าวว่า เป้าหมายของการจัดประชุมคือการจุดกระแสการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กำลังคน โดยขณะนี้บุคลากรด้านสาธารณสุขกำลังมีปัญหาเรื่องไม่มีความสุขในการทำงาน รู้สึกกดดัน เหน็ดเหนื่อย เครียด ท้อแท้ เหนื่อยหน่าย และขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน เนื่องจากภาระงานเพิ่มขึ้น

“มีงานวิจัยซึ่งสำรวจความคิดเห็นพยาบาลจำนวน 3,000 คน พบว่า 49.6% หรือเกือบครึ่งหนึ่ง มีความคิดที่จะลาออกในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นั่นเป็นภาพสะท้อนบุคลากรในวิชาชีพสาธารณสุขด้านอื่นๆ ด้วย” นพ.โกมาตร กล่าว

นพ.โกมาตร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมายุทธศาสตร์ด้านกำลังคนติดอยู่กับกับดักของความขาดแคลนจึงมุ่งผลิตคนเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม โดยไม่คำนึงถึงบุคลากรที่อยู่ในระบบเดิมจำนวนกว่า 4 แสนราย การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการปฏิรูปยุทธศาสตร์กำลังคน โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคนในฐานะที่เป็นมนุษย์