ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ศรีนครินทร์ ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรักษามะเร็งด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) เม็ดโลหิตในระบบหลักประกันสุขภาพ แห่งแรกในภาคอีสาน 

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น เปิดเผยว่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ผ่านการตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) เม็ดโลหิต (HSCT) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทีมตรวจประเมิน 2 คณะ คือ กรณีผู้ป่วยผู้ใหญ่ นำโดย ศ.พญ.แสงสุรีย์ จูฑา ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลรามาธิบดี และกรณีผู้ป่วยเด็ก นำโดย รศ.นพ.ปัญญา เสกสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมด้วยคณะทำงานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แล้ว 

นพ.ปรีดา กล่าวว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องได้รับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วยวิธีปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิด แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่สามารถไปรับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในกรุงเทพมหานครได้ เพราะการรักษานั้นผู้ป่วยจะต้องอยู่ห้องแยกกึ่งปลอดเชื้อเป็นระยะเวลานาน การที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ผ่านการตรวจประเมินทำให้ผู้ป่วยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพหรือสิทธิบัตรทอง และไม่ต้องเดินทางไกล รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในระหว่างรับการรักษาได้มากขึ้น 

รศ.นพ.สุรพล เวียงนนท์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศ สาขาปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต  รพ.ศรีนครินทร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลได้เริ่มให้การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วยวิธีปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดมาตั้งแต่ ปี 2551 โดยรายแรกที่ได้รับการรักษาเป็นผู้ป่วยเด็กที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ได้รับการรักษาโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากเม็ดเลือดตนเอง และให้การรักษาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันรวม 62 ราย โดยในปี 2559 ได้ให้การรักษาจำนวน 19 ราย  

รศ.นพ.สุรพล กล่าวว่า โรงพยาบาลมีการพัฒนาศักยภาพการตรวจรักษา ทั้งในด้านเครื่องมือทางการแพทย์ การตรวจวินิจฉัย มีห้องสำหรับรังสีนิวเคลียร์ และมีธนาคารเลือดที่สามารถให้โลหิตและส่วนประกอบของเลือดได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีความพร้อมด้านบุคลากรแพทย์ พยาบาล และสหวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง และในอนาคตมีแผนจะจัดให้มีเตียงสำหรับปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจำนวน 8 เตียง และมีเตียงสำหรับเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดโดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาแก่ผู้ป่วยที่จำเป็นในพื้นที่ภาคอีสาน.