ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตรวจสอบ รพ.เอกชนย่านศรีราชา จ.ชลบุรีให้แล้วเสร็จใน 3 วัน หลังมีผู้ร้องเรียนผ่านเฟซบุ๊คว่าเก็บค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินแค่ 2 ชั่วโมง เกือบ 50,000 บาท ชี้สถานพยาบาลทุกแห่งจะต้องแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการให้ชัดเจน พร้อมให้ประชาชนสอบถามอัตราค่าบริการได้ และห้ามเก็บเกินราคาป้ายที่แสดง

จากกรณี มีหญิงสาวรายหนึ่ง แชร์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลมีเดียว่าได้นำเพื่อนที่หมดสติจากการล้มศีรษะฟาดพื้น เข้ารักษาที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งย่านศรีราชา จ.ชลบุรี แต่พบว่า ค่ารักษาพยาบาลภายใน 2 ชั่วโมง เป็นเงิน 40,945 บาท จึงขอให้ส่งตัวไปยัง รพ.ที่มีสิทธิประกันสังคม แต่ไม่ได้รับการตอบรับ จนต้องมีการวางสร้อยคอทองคำเป็นหลักประกัน

นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล

ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย ร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ รพ.ที่ถูกร้องเรียน โดยจะเน้นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 ใน 2 ด้าน

ประการแรก คือ สถานพยาบาล ตามมาตรา 32 กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งต้องมีป้ายแสดงรายละเอียด 3 เรื่องหลัก คือ 1.ชื่อสถานพยาบาล  2.รายการเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล และ 3.อัตราค่ารักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆและสิทธิของผู้ป่วยให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ และต้องมีจุดให้ประชาชนสอบถามอัตราค่าบริการเพิ่มเติม โดยห้ามเก็บค่ารักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆ เกินกว่าที่ป้ายแสดง และต้องให้บริการแก่ผู้ป่วยตามสิทธิที่แสดงไว้ด้วย

ประการที่ 2 คือ ด้านแพทย์ผู้ให้บริการ ว่าแพทย์ที่ให้การรักษาใน รพ.แห่งนี้ มีการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้นตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ รวมทั้งการสั่งการวินิจฉัยโรคเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ หากพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานจะประสานส่งเรื่องให้สภาวิชาชีพ คือ แพทยสภา ดำเนินการด้านจริยธรรมต่อไป โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีการร้องเรียนบ่อยครั้ง

นพ.ภัทรพล กล่าวต่อว่า ในกรณีนี้แม้ รพ.เอกชนที่ถูกร้องเรียนจะไม่ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่ก็มีการเรียกเก็บค่ารักษาในอัตราที่สูงในระยะเวลาสั้นเพียง 2 ชั่วโมง จึงต้องมีการตรวจสอบว่า รพ.เอกชนดังกล่าวได้มีการสั่งการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างไรบ้าง และได้มีการติดป้ายแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆและสิทธิของผู้ป่วยให้ประชาชนทราบหรือไม่ หากไม่มี ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากเรียกเก็บค่ารักษาเกินอัตราที่แสดงบนป้าย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

อย่างไรก็ตาม ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 ได้กำหนดให้ รพ.จะต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยห้ามปฏิเสธการรักษาเด็ดขาด หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ สิทธิผู้ป่วยที่สถานพยาบาลทุกแห่งทั้งโรงพยาบาล และคลินิกเอกชน ต้องติดแสดงที่จุดบริการมี 9 ประการ ดังนี้

1. ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการรักษาพยาบาลและดูแลมาตรฐานสุขภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ 

2.ผู้ป่วยที่ขอรับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอ และเข้าใจชัดเจนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือรีบด่วน หรือจำเป็น

3.ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต มีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือรีบด่วนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยทันทีตามความจำเป็นแก่กรณี โดยไม่คำนึงถึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่

4.ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ที่เป็นผู้ให้บริการแก่ตน

5.ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่น ที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ตน และมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการและสถานบริการได้

6.ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยเคร่งครัด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

7.ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน ในการตัดสินใจเข้าร่วมหรือถอนตัวจากการเป็นผู้ถูกทดลองในการทำวิจัยของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ

8.ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูล เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเฉพาะของตนที่ปรากฏในเวชระเบียนเมื่อร้องขอ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น

9.บิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรมอาจใช้สิทธิแทนผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ผู้บกพร่องทางกายหรือจิต ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิด้วยตนเองได้

หากสถานพยาบาลใดไม่มี หรือมีแล้วแต่อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์สามารถขอได้ที่ศูนย์บริการร่วมเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ที่กรม สบส. สอบถามได้ที่สายด่วน กรม สบส. 02 193 7999