ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ไทย-ญี่ปุ่น” ขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน พร้อมร่วมมืออาเซียนเตรียมระบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ประเทศญี่ปุ่น นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมหารือกับ นายชิโอซากิ ยาซูฮิซะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของประเทศญี่ปุ่น ระหว่างการศึกษาดูงานด้านการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ณ ประเทศญี่ปุ่น การศึกษาดูงานในครั้งนี้เป็นกิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์มายาวนานและต่างประสบความสำเร็จด้านการประกันสุขภาพถ้วนหน้า การหารือกันในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการพัฒนาความร่วมมือในการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน โดยจะร่วมกันนำประสบการณ์ของทั้ง 2 ประเทศแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาขีดความสามารถด้านประกันสุขภาพให้กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่มอาเซียน

“การหารือครั้งนี้ จะนำไปสู่การศึกษาร่วมกันระหว่างทั้ง 2 ประเทศเพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบระบบหลักประกันสุขภาพของทั้ง 2 ประเทศ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่ประเทศอื่นๆ การขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญอย่างจริงใจ เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของร่วมกัน และร่วมมือในการร่วมฟันฝ่าอุปสรรคในอนาคต” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ด้าน นายชิโอซากิ ยาซูฮิซะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความท้าทายร่วมกัน คือความมั่นคงยั่งยืนทางการเงินการคลังประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปัจจุบัน ทั้ง 2 ประเทศประสบปัญหาเรื่องเทคโนโลยีราคาแพงที่เพิ่มค่าใช้จ่ายสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยมีระบบการกลั่นกรองและตัดสินใจในเชิงนโยบายในการนำยาหรือเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง ดังนั้น การพิจารณาปรับนโยบายการคลังของระบบประกันสุขภาพจำเป็นต้องพิจารณาในภาพกว้างอย่างเป็นระบบ อาจต้องมองหาช่องทางลดรายจ่ายด้านสุขภาพที่ไม่จำเป็น เช่น การใช้ยาไม่เหมาะสม เป็นต้น

นายยาซูฮิซะ กล่าวต่อว่า นอกจากความร่วมมือด้านประกันสุขภาพแล้ว ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมมือในการพัฒนาขีดความสามารถด้านสุขภาพโลกและเตรียมความพร้อมระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภายใต้ความร่วมมือนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนประชาคมโลกให้มีสุขภาพดี เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง