ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ณ ประเทศหนึ่งในดาวยูเรนัส (อีกครั้ง) เสียงบ่นเรื่องเฟซบล็อควลี #สมแล้วที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา ยังไม่ทันจางหายไป ก็มีการประท้วงของเหล่าพยาบาลและบุคลากรสุขภาพด้วยน้ำตานองหน้า เรื่องการไร้อนาคตด้านการทำงาน

หากติดตามย่างก้าวการบริหารกระทรวงให้ดี จะเห็นชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า เน้นโปรโมทอัตลักษณ์ส่วนตนของนักบริหารเป็นหลัก นโยบายส่วนใหญ่ที่ผลักออกมา ล้วนเป็นไปตามแนวทางที่ตนเองต้องการ เป็นขั้นเป็นตอนอย่างแยบยล

ตั้งแต่การปรับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ การอาศัยอำนาจรัฐในการปรับเปลี่ยนองคาพายพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดระเบียบคน เงิน ของ ให้เข้ากับแผนระยะยาวของตน

หมากที่เดินแต่ละตานั้น แสดงถึงการคำนวณ ใคร่ครวญ ชงและตบอย่างเหมาะเจาะอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งการป่วนของนักวิชาเกินผ่านสื่ออย่างหนักหน่วง ไปจนถึงกระบวนการรับส่งประเด็นเพื่อไปรื้อระบบให้เป็นไปตามที่ปักธงไว้ ยกเว้นบางกรณีที่มีหลุดโผจนเกิดกระแสตีกลับจากการกระทำของลูกแถวที่อยากดังตามนาย อาทิ การชวนให้ท้องแล้วจะแถมวิตามิน แต่โดยรวมต้องถือว่าทีมงานบริหารนี้แยบยลมากเมื่อเทียบกับในอดีต กุมอำนาจกุมตาเดินในกระดานไว้เกือบทั้งหมด

เหตุการณ์สำคัญอย่างเรื่องตำแหน่งบรรจุพยาบาลหมื่นกว่าตำแหน่งที่กระทรวงชงเสนอไป ครม.แล้วโดนตีกลับมาล่าสุดนั้นจึงไม่น่าจะเป็นเรื่อง "บังเอิญ" ในเมื่อก่อนหน้านี้ คำสั่งการเรื่องการต่ออายุข้าราชการเกษียณของกระทรวงเพื่อปูทางให้ "คนเกษียณ" ได้ทำงาน ได้เงิน และได้อำนาจต่อ ภายใต้นโยบายทีมหมอครอบครัวนั้นผ่านฉลุยไร้แรงต้าน ทั้งๆ ที่คนมากมายพากันทักท้วงว่าแทนที่จะสามารถนำตำแหน่งเกษียณมาบรรจุคนรุ่นใหม่ไฟแรง หรือประหยัดงบรัฐที่จะต้องเสียเงินจ้างคนระดับบริหารหรือทรงคุณวุฒิหรือเชี่ยวชาญ แต่มักลืมเวชปฏิบัติหรือร้างลาการสัมผัสผู้ป่วยและประชาชนไปนาน ความรู้ก็เลือนหาย ขืนจ้างต่อ ก่อนจ้างยังต้องจัดการอบรมรื้อฟื้นให้อีกต่างหาก สู้สนับสนุนเงินที่ประหยัดได้ไปลงทุนในส่วนที่ขาดแคลนจะดีกว่า...

แต่สุดท้ายแล้วก็เข้าอีหรอบ...กรูจะทำ ใครจะทำอะไรได้? สังเกตได้ชัดเจนต่อไปอีกว่า พอ ครม.เซย์โน ไม่อนุมัติตำแหน่งบรรจุพยาบาล ก็มีตัวหมากสำคัญ 2 ตัวที่โผล่ออกสื่อทันทีทันใด

หนึ่งคือ นักบริหารที่เราคุ้นเคยกันดี...บอกว่าทั่นตู่ห่วง และจะเร่งปรับหาตำแหน่งภายในในช่วงระยะสั้นก่อน แล้วค่อยทำเรื่องขอไปยัง ครม.อีกครั้ง

สองคือ หน่วยงานคุมตำแหน่งรัฐอย่าง "กอพลอ" ออกมาอ้างบอกว่าแกน่ะมีตำแหน่งภายในว่างตั้งหมื่นตำแหน่ง ให้ไปจัดการซะ แถมสำทับว่างบบุคลากรของแกน่ะปาเข้าไป 72% เชียวนะ

ฝ่ายที่สองออกข่าวมาปุ๊บ ฝ่ายแรกออกข่าวแทบจะทันที โชว์หน้าขาวผ่อง บอกว่า ตำแหน่งภายในน่ะใช้สำหรับทุกวิชาชีพนะ อย่าเข้าใจผิด ผู้รู้บางท่านก็มาชี้ให้เห็นว่าไอ้ตัวเลขงบบุคลากร 72% ก็ไม่ถูกต้อง เพราะมีงบจากแหล่งอื่นที่ต้องนำมาคำนวณด้วย จริงๆ แล้วงบบุคลากรที่ใช้คือ 40% เท่านั้น ต่ำกว่าที่ฝ่ายสองออกมาให้ข่าว

ไอ้เราติดตาม สดับตรับฟังแล้วก็ได้แต่ปลง...ทำงานอะไรกันวะ? นี่กระมังที่เป็นต้นตอของความด้อยพัฒนาของประเทศนี่เอง...

ดูข่าวทั้ง 2 ฝ่ายที่ออกมาเล่นผ่านสื่อแล้ว...อยากจะบอกทั้งสองฝ่ายว่า... "...มาโต้อะไรผ่านสื่อตอนนี้ครับ ก่อนนำเรื่องเข้า ครม.ก็ควรคุยและเช็คกับ ก.พ.ให้เข้าใจก่อนไม่ใช่หรือ ? ทีเรื่องนโยบายต่ออายุคนแก่ เพื่อปูทางให้ทำงานต่อหลังเกษียณล่ะ ดูเหมือนปูด้วยกลีบกุหลาบเกินไปไหม?..."

ประเทศเรานั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนล้วนขาดแคลนพยาบาลอย่างหนัก ผลิตได้ปีละแค่ 12,000 คน อีก 10 ปีพยาบาลจะเกษียณอย่างน้อย 1 ใน 3 ยิ่งจะเป็นวิกฤติหนักท่ามกลางสังคมสูงอายุที่ต้องการการดูแลรักษามากขึ้นทวีคูณ เรื่องทีมหมอครอบครัวในดาวยูเรนัสที่ใครบางคนฝันว่าจะเกษียณเร็วๆ นี้แล้วจะผันตัวไปจับงานนี้เพื่อกุมอำนาจระยะยาวนั้นจงลืมไปได้เลย งานของคุณจะล่มไม่เป็นท่า หากทรัพยากรบุคคลในทีมสุขภาพอย่างพยาบาลนั้นเกิดปัญหาเช่นนี้ และยิ่งจะทำให้สังคมประสบปัญหาหนักแบบเรื้อรัง หากควบคู่ไปกับแผนของคนบางคนที่เร่งผลิตหมอครอบครัวแบบหลากหลายวิธีการ เน้นจำนวนมากกว่าเรื่องคุณภาพมาตรฐาน

หมอจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีคุณพยาบาลช่วยเหลือและทำงานร่วมกัน ควบคู่กับสหสาขาวิชาชีพ เพราะเราดูแลชีวิตคน ปัญหาที่เราเจอตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันน่าจะเกิดจาก “พญามาร” ที่เป็นต้นตอของการสร้างและดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด เพราะใช้กิเลสเป็นตัวนำ หากผู้บริหารประเทศที่กุม M44 อยู่นั้นอยากจะแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริง ก็ควรรับรู้และจัดการกับ "กลุ่มพญามาร" เสียที ว่าแต่ท่านเอาแต่บอกว่าจะทำตามสัญญา...ท่านรู้หรือยังว่าพญามารอยู่ที่ไหน ?

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย