ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 70 “การสร้างระบบที่ดีเพื่อการมีสุขภาพดีในยุคเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วน และพลังสนับสนุน 3 ด้าน ย้ำการมีสุขภาพดีจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายอื่นๆ ของการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมหารือทวิภาคีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 70 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในนามของประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ การสร้างระบบที่ดีเพื่อการมีสุขภาพดีในยุคเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน (Building Better Systems for Health in the Age of Sustainable Development) ซึ่งมีประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก 194 ประเทศเข้าร่วมว่า เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นกรอบในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก เป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และท้าทาย ครอบคลุมการแก้ปัญหาของสังคมในทุกมิติ และต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาของการพัฒนา อาทิ ความยากจน ความหิวโหย ความไม่มั่นคงทางอาหาร คุณภาพของการศึกษา การว่างงาน และได้ย้ำว่าการมีสุขภาพดีจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายอื่นๆ ของการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

กระทรวงสาธารณสุขไทยจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ได้แก่ การควบคุมการบริโภคยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลสูง โดยใช้มาตรการการเพิ่มภาษี หรือการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการควบคุมฉลาก โฆษณาและการตลาดผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้เรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกออกมาตรการดังกล่าว

ในการสร้างระบบเพื่อบรรลุการมีสุขภาพดีในยุคเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีพลังสนับสนุน 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.พลังสังคม คือ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

2.พลังความเชื่อมั่นและการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันของทุกภาคส่วน

และ 3.ระบบธรรมมาภิบาลที่ดี มีการใช้อำนาจทางกฎหมายที่โปร่งใส รับฟังเสียงของประชาชน และมีผู้นำที่มีคุณธรรม

“เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมที่จะต้องช่วยกันสร้างสุขภาพ โดยระบบเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่ ระบบสุขภาพ และระบบสุขภาพไม่ควรเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเป็นระบบของประชารัฐที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องมีหลักการทั้ง 2 ด้านคือ ทุกนโยบายสาธารณะคำถึงด้านสุขภาพ (Health in all policies) และนโยบายสุขภาพที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของนโยบายสาธารณะ (All in health policies)” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ในโอกาสนี้ ได้หารือทวิภาคีกับนายกัน คิม ยอง (H.E. Mr. Gan Kim Yong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ เกี่ยวกับความคืบหน้าการให้วัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งสิงคโปร์กำลังพิจารณาให้วัคซีนไข้เลือดออกกับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงและมีการระบาด พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนมาตรการการเฝ้าระวังและควบคุมโรคนำโดยแมลง โดยเฉพาะไข้เลือดออก ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ได้แสดงความขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขไทยที่เป็นผู้ริเริ่มในการจัดประชุมทางไกลรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนผ่านระบบวิดีโอเมื่อปีที่ผ่านมาเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในภูมิภาคอาเซียน ส่งผลให้สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสซิกาในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ