ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างฯ” ร้องขอความเป็นธรรมบรรจุ ขรก. 1 มิ.ย.นี้ หลังมีเภสัชกรตกค้างรอบรรจุตั้งแต่ปี 2551 รวมเกือบ 400 คน ชี้ต้นเหตุจากหลักเกณฑ์ใช้ทุนปลายเปิด ส่งผลเภสัชกรจบใหม่หลายรายไม่ได้สิทธิใช้ทุนเป็นข้าราชการ และในขณะเดียวกัน รพ.ต่างๆ ยังขาดแคลนเภสัชกรจึงต้องเปิดรับสมัครงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือพนักงานราชการแทน

ภก.วีรวุฒิ สุมา ประธานเครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 มิถุนายน 2560 นี้ ตัวแทนเครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างแห่งประเทศไทยจะเข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอความเป็นธรรมการบรรจุข้าราชการให้กับกลุ่มเภสัชกรที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) และพนักงานราชการ (พรก.) ใน รพ.สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ก่อนที่จะเข้าร่วมชี้แจงปัญหาในการประชุมตัวแทนเครือข่ายวิชาชีพในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ซึ่งจากการสำรวจโดยเครือข่ายฯ ล่าสุดมี 378 ราย โดยยังมีเภสัชกรที่ยังตกสำรวจอยู่ จึงคาดว่าในภาพรวมทั้งหมดในระบบกระทรวงสาธารณสุขน่าจะมีเภสัชกรที่ตกค้างและไม่ได้บรรจุข้าราชการประมาณเกือบ 400 ราย

ซึ่งเภสัชกรกลุ่มนี้ หลายคนรอมานาน แต่ก็ยังไร้วี่แววบรรจุ ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 สำนักบริหารบุคคลได้จัดสรรตำแหน่งข้าราชการให้แต่ละวิชาชีพจากระบบ HROPS แต่ไม่มีการจัดสรรตำแหน่งให้เภสัชกรเลยแม้แต่ตำแหน่งเดียว ยิ่งส่งผลสร้างความเหลื่อมล้ำภายในวิชาชีพเภสัชกร กระทบขวัญกำลังใจและแรงจูงใจทำงาน

ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้มีเภสัชกรตกค้างบรรจุข้าราชการจำนวนมาก เนื่องจากวิชาชีพเภสัชกรเป็นระบบการใช้ทุนปลายเปิดตามความสมัครใจ แต่ละปีจะมีเภสัชกรจบใหม่สถาบันการศึกษาภาครัฐที่ต้องการใช้ทุนและทำงานใน รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 600-700 คน แต่กระทรวงสาธารณสุขมีตำแหน่งบรรจุเพียงปีละ 350 อัตราเท่านั้น ทำให้ครึ่งหนึ่งต้องหลุดการใช้ทุน ส่งผลให้เภสัชกรจบใหม่ส่วนหนึ่งหันไปทำงานในเอกชน เปิดร้านยาเอง เป็นต้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่งที่ยังต้องการทำงานใน รพ.รัฐและเป็นข้าราชการเช่นเดียวกับเพื่อนๆ และรุ่นพี่ที่ได้บรรจุจึงไปสมัครใน รพ.รัฐที่เปิดรับสมัคร เนื่องจากโรงพยาบาลยังขาดแคลนเภสัชกร ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้มีเภสัชกรที่เริ่มต้นทำงานตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาหรือเกือบ 10 ปีมาแล้วที่ยังคงอยู่ในระบบและตกค้างไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการจำนวนมาก ทั้งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับการบรรจุเมื่อไหร่

“ด้วยระบบนี้ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำภายในวิชาชีพเภสัชกรระบบ สธ.กันเอง เนื่องจากเภสัชกรรุ่นน้องจบใหม่บางส่วนจะได้รับการบรรจุก่อนรุ่นพี่ แม้ว่ารุ่นพี่เภสัชกรจะทำงานมานานแล้วและอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกัน ทำให้เกิดความแตกต่างกันทั้งในค่าตอบแทนและความก้าวหน้าวิชาชีพ ต่างจากวิชาชีพอื่นซึ่งไม่ว่าอย่างไรรุ่นพี่ทำงานมาก่อนจะได้รับการบรรจุก่อนรุ่นน้อง ยกตัวอย่าง ในโรงพยาบาลเดียวกันเภสัชกรรุ่นพี่ที่ทำงานมากว่า 5 ปี ยังเพิ่งได้รับเงินเดือนที่ 15,000 บาท ขณะที่รุ่นน้องพึ่งจบใหม่แล้วได้บรรจุได้รับเงินเดือนประมาณ 19,000 บาท กระทบต่อแรงจูงใจในการทำงานอย่างมาก” ประธานเครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างแห่งประเทศไทย กล่าว

นอกเหนือจากกลุ่มเภสัชกรที่ใช้ทุนได้รับการบรรจุไปก่อนแล้ว ภก.วีรวุฒิ กล่าวต่อว่า ในการจัดสรรตำแหน่งบรรจุให้แก่ลูกจ้าง พกส. หรือ พรก.ตามแผนอัตรากำลัง FTE ของ สธ.ในแต่ละปี โดยล่าสุดปี 2559 ปรากฏว่าผู้ที่ได้รับบรรจุในบางพื้นที่กลับเป็นเภสัชกรที่เพิ่งเริ่มทำงานปี 2559 แทนที่จะบรรจุเภสัชกรที่ทำงานมาก่อนและมีอายุงานมากกว่า ซึ่งกระทบต่อความรู้สึกเภสัชกรรุ่นพี่ที่ทำงานในระบบและทำให้ขาดขวัญกำลังใจอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงอยากขอความเป็นธรรมจาก สธ.เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้ โดยขอให้บรรจุเภสัชกรที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และพนักงานราชการที่ทำงานใน รพ.สธ.ทั้งหมด ซึ่งอาจจะจัดทำเป็นแผนทยอยบรรจุที่ชัดเจน

ภก.วีรวุฒิ กล่าวต่อว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทราบว่าขณะนี้ สธ.ได้พยายามแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยได้ขอตำแหน่งบรรจุเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนทุนเภสัชกรจำนวน 316 อัตรา รวมกับ 350 อัตราต่อปี เป็นจำนวน 666 อัตราต่อปี เพื่อให้สามารถบรรจุเภสัชกรจบใหม่ได้มากขึ้น แต่ทาง ครม.ได้มีมติไม่อนุมัติตำแหน่งดังกล่าวแล้ว