ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอนพพร’ แจงบอร์ด สปสช.ระบุ เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐไม่ใช่เงินส่งเสริมการขาย เป็นมาตรการเร่งรัดทวงหนี้ จำกัดเฉพาะผู้ซื้อที่จ่ายเงินตรงเวลา มีเกณฑ์ต้องเป็นประโยชน์ต่อ ปชช. พร้อมแนะ สป.สธ.เร่งทำโครงการ เหตุ สปสช.กำหนดหลักเกณฑ์ให้ สป.สธ.ใช้งบนี้ร้อยละ 80 พร้อมเผย ปี 60 สปสช.เป็นหนี้สูงกว่า 5 พันล้าน จากเดิมมีหนี้ค้างเพียง 19 ล้านบาท ด้าน ‘หมอศักดิ์ชัย’ แจงสาเหตุ อำนาจลงนามเบิกจ่ายไม่ชัด ล่าสุดบอร์ดอนุมัติแล้ว เตรียมเคลียร์หนี้เร็วๆ นี้

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวชี้แจงกรณีเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากองค์การเภสัชกรรมต่อที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธานว่า เรื่องนี้ได้ชี้แจงหลายครั้งแล้ว ทั้งต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แม้แต่ บอร์ด สปสช.เองก็มีการชี้แจงหลายครั้ง

ที่มาของงบประมาณนี้ ด้วย อภ.เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ไม่แสวงหากำไร แต่ไม่ได้รับงบประมาณแผ่นดินและต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ โดยปี 2560 นี้ อภ.มียอดขายอยู่ที่ 15,000 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นยอดหนี้ในช่วง 6 เดือนที่แล้ว 9,563 ล้านบาท ส่วนหนี้สะสมมาตั้งแต่ปี 2556 และมาหนักในปี 2558 และ 2559 สาเหตคือ โดยปกติเราจะมีลูกหนี้ที่เป็นหนี้ประจำอยู่ที่ 40-100 ล้านบาท โดยลูกหนี้ขาประจำคือสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข มียอดซื้อที่ 3,000 ล้านบาท แต่เป็นหนี้ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ถือเป็นลูกค้าที่ดีที่สุด เพราะหนี้ค้างจะเหลือน้อยมา แต่ช่วง 1 ปีที่ผ่าน สปส.มีปัญหาเคลียร์เงินภายในทำให้เกิดปัญหา แต่หลังจากที่ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการ สปส.เข้าบริหาร ทำให้มีการเคลียร์หนี้

แต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงมากคือ สปสช. ซึ่งเดิมมีหนี้ค้างจ่ายเพียงแค่ 19 ล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันหนี้ได้ขยับสูงขึ้น โดยมียอดสะสม 5,791 ล้านบาทแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา อภ.เคยได้รับการทักท้วงจาก สตง.ว่าทำไมจึงยังจำหน่ายให้ แต่เนื่องจาก อภ.เป็นหน่วยงานไม่แสวงหากำไรและมีพันธกิจทางสังคมช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาจึงต้องดำเนินการต่อ

นพ.นพพร กล่าวว่า ส่วนที่มีการระบุถึงเงินสวัสดิการและส่งเสริมการขายจากยอดการจัดซื้อนั้น ยืนยันว่า อภ.ไม่มีการจ่ายเงินสวัสดิการภาครัฐและส่งเสริมการขาย เนื่องจากหากเป็นสวัสดิการและการส่งเสริมการขายจะต้องเป็นการคิดตามยอดการสั่งซื้อ แต่ อภ.จะจ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐเมื่อลูกค้าจ่ายเงินตามระยะเวลาที่กำหนด และต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ อภ.เป็นผู้ผลิตเท่านั้น ซึ่งเป็นมาตรการเร่งรัดทวงหนี้ ทั้งยังไม่ได้เป็นเงินทอนเพราะเราไม่มีอำนาจทอนเงินให้ใคร

นอกจากนี้ในการนำเสนอเพื่อขอเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐยังต้องเป็นโครงการที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้ พร้อมกำหนดเบิกจ่ายภายใน 1 ปี หากไม่เบิกจ่ายเงินนี้จะเข้าสู่บัญชี อภ.

ที่ผ่านมายังได้นำเรื่องนี้เรียนต่อผู้ว่า สตง.แล้ว ท่านได้เห็นด้วย เพราะจะทำให้การเร่งรัดให้ผู้ซื้อจ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องใช้อย่างรอบคอบและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการให้โครงการไปเที่ยวต่างประเทศ นอกจากนี้ทราบว่าภายใน สปสช.การขอใช้เงินก้อนนี้ก็มีการควบคุมกันอยู่ คือ เลขาธิการ สปสช.ต้องอนุมัติ และปลัดกระทรวง สธ.ต้องอนุมัติ แต่ผู้อนุมัติปล่อยเงินคือ ผอ.อภ.

“เรื่องนี้ได้เคยตอบผู้ว่า สตง.ว่า งบสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ สปสช.มีประมาณ 80-100 ล้านบาท หากไม่ได้ใช้ อภ.เองไม่เสียอะไร ซ้ำยังได้เงินกลับคืน อภ. แต่ถ้านำเงินก้อนนี้ไปทำโครงการที่เบิกไม่ได้จากราชการที่เกิดประโยชน์กับประชาชน แบบนี้จะให้ทำหรือไม่ ซึ่งท่านตอบว่าให้ทำได้ เพียงแต่ให้ทำตามหลักการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน สำหรับในปีนี้งบสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐของ สปสช.ในปีนี้ยังไม่ได้คำนวณ เพราะที่ผ่านมา สปสช.มีการจ่ายตามระยะเวลากำหนดน้อยมาก เป็นไปได้ว่าปีนี้อาจไม่มีเลยก็ได้” ผอ.อภ. กล่าวและย้ำว่า เงินก้อนนี้ของ อภ.ไม่ได้หักยอด 5% การขายแล้วคืนให้กับหน่วยงาน แต่เป็นการตั้งงบประมาณเพื่อใช้จ่ายสำหรับเงินก้อนนี้

นพ.นพพร กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้เคยชี้แจงหลายครั้งแล้ว และเห็นว่าเรื่องนี้ สปสช.เองมีระเบียบภายในการใช้งบนี้ โดยร้อยละ 80 ให้เป็นการใช้โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และที่ผ่านมาได้เคยนำเสนอต่อปลัด สธ.หลายครั้งเช่นกันว่า หาก สธ.อยากพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ใน รพ. หรือจัดทำระบบรหัสเบิกจ่ายยา แต่ไม่มีงบประมาณก็สามารถใช้งบนี้ได้ โดยขณะนี้ยังมีอยู่ ควรรีบทำโครงการได้แล้ว และหากสิ้นปียังไม่มีการทำโครงการเข้ามา เงินนี้ก็จะกลับเข้าสู่บัญชีของ อภ.เช่นเดิม

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช .กล่าวว่า กรณีที่ สปสช.ค้างหนี้ อภ.จำนวนมากนั้น เนื่องจากที่ผ่านมา สปสช.ได้รับการทักท้วงถึงอำนาจการเบิกจ่ายเงิน แต่จากการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนนี้ บอร์ดได้เห็นชอบให้เลขาธิการ สปสช.เป็นผู้ลงนามในกรณีการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ ดังนั้นจะมีการเคลียร์หนี้ในเร็วๆ นี้