ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอมรุต’ ชี้การแก้ไขสัดส่วนคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพโดยเพิ่มสัดส่วนตัวแทนหน่วยบริการมากขึ้นก็เพื่อเข้าสร้างสมดุลในการทำงาน เจรจาต่อรองการจัดบริการอย่างสมเหตุผล ไม่ได้หวังเข้ามายกมือเอาชนะคะคานแต่อย่างใด เตรียมเชิญสถาบันพระปกเกล้าเข้ามาประเมินผลกระทบจากการแก้ไขกฎหมาย คาดแล้วเสร็จกลางเดือน ก.ค.นี้

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ (กลาง)

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... กล่าวในการแถลงข่าวการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาถึงประเด็นที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพว่า กระบวนการแก้ไขกฎหมายมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ ภาคส่วนละ 1-2 คน เช่น มีตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามา 1 คน ตัวแทนของสภาวิชาชีพก็มีเข้ามา 1 คน ส่วนตัวแทนจากภาคส่วนอื่นๆก็มีประมาณ 1-2 คน

นพ.มรุต กล่าวว่า ในส่วนของตัวแทนภาคประชาชนมี 1 คน และตัวแทนขององค์กรเอกชนก็มีอีก 1 คน ซึ่งถือว่าไม่น้อย เพราะภาคส่วนอื่นก็มีตัวแทนเข้ามาในจำนวนพอๆ กัน

อย่างไรก็ดี หากพูดตรงไปตรงมา กลุ่มที่มีสัดส่วนตัวแทนเยอะขึ้นมาอีกหน่อยจะมีจากทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เพราะเป็นผู้ดำเนินการโดยตรง

“อย่างผมกับท่านประจักษวิช (นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช.) ก็เป็นเลขาฯ ร่วมในคณะกรรมการ ส่วนรองประธานก็มีท่านอาจารย์ณรงค์ศักดิ์ (นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา) อาจารย์เสรี (นพ.เสรี ตู้จินดา) ก็คือวางไว้ให้สมดุล ตรงนี้เชื่อว่าการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนจะเป็นพลังที่ดีที่ถูกต้อง” นพ.มรุต กล่าว

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการแก้ไขตัวบท เรื่องสัดส่วนของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ที่เพิ่มสัดส่วนตัวแทนหน่วยบริการมากขึ้นนั้น เป็นไปเพราะอยากให้เป็นส่วนที่เข้าไปสร้างสมดุลกัน เพื่อให้เกิดดุลยภาพในการทำงานอย่างยั่งยืน

“ผู้ซื้อมีเงิน 100 บาท อยากได้ก๋วยเตี๋ยวกี่ชาม ก็ต้องอยากได้เยอะๆ ได้ 3 ชาม 4 ชาม ใช่ไหม ขณะที่ในส่วนของคนควบคุมคุณภาพ ก๋วยเตี๋ยวต้องอร่อย สะอาด ปราศจากเชื้อ ไม่มีสารเจือปน หม้อต้องไร้สารตะกั่ว ส่วนผู้กินก็ต้องกินอร่อย ถ้าคนเป็นเบาหวานต้องไม่มีน้ำตาล คนเป็นโรคไตก็ต้องไม่มีเนื้อ ต้องใช้เป็นเนื้อปลา คนที่ขาดสารอาหารก็ต้องเติมไข่ แต่ในราคาเท่าไหร่ไม่รู้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีสัดส่วนผู้ให้บริการน้อย เพราะฉะนั้นวันนี้ก็จะเข้ามาบอกว่าถ้าราคา 100 บาท ควรได้ก๋วยเตี๋ยวประมาณเท่าไหร่ ประมาณไหน สมมุติ 100 บาท สปสช.ต่อรองแล้วน่าจะได้ 3 ชาม ถ้า 3 ชามใน 100 บาท ควรมีคุณภาพมาตรฐานอย่างไร คนจัดบริการจัดได้ไหม แต่ถ้าบอกว่าจะเอา5 ชาม ต่อไปใครจะขาย ผู้จัดบริการก็จัดไม่ได้ นึกออกไหมครับ” นพ.มรุต กล่าว

นพ.มรุต กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าหน่วยบริการโดยเฉพาะในสังกัด สธ. มีภาวะวิกฤติการเงิน ซึ่งนี่เป็นปัญหาว่าจะเอาก๋วยเตี๋ยว 5 ชามซึ่งทางราชการดำเนินการให้ไม่ได้ ทางรัฐบาลเห็นว่าลำบากจริงก็เลยให้งบมาช่วย

“เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ ถ้าจะต่อรองอะไรกันให้มีเหตุมีผล ให้พอสมควร ก็น่าจะมีส่วนของผู้ให้บริการเข้ามามีส่วนร่วม แต่ไม่ได้หวังว่าจะเข้ามาเป็นใหญ่ มายกมือเอาชนะคะคาน เราไม่ได้หวังอย่างนั้น เราหวังว่าจะเข้ามาอธิบาย” นพ.มรุต กล่าว

นอกจากนี้ การเข้ามามีส่วนร่วมของตัวแทนหน่วยบริการที่เพิ่มขึ้น หากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ หรือคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ จะดำเนินการโครงการใดๆ กลุ่มตัวแทนเหล่านี้ เช่น ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลสังกัด สธ. ก็จะช่วยแนะนำว่าควรจะต้องทำอย่างไรถึงจะทำได้จริง ทำได้ถูกต้อง คุ้มค่าเงิน มีประสิทธิภาพอีกด้วย

นพ.มรุต กล่าวอีกว่า ได้หารือกับ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯแล้ว โดยจะเชิญสถาบันพระปกเกล้าเข้ามาเป็นผู้ประเมินผลกระทบจากการแก้ไขกฎหมาย ตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ โดยทางสถาบันพระปกเกล้าจะดำเนินการอย่างเป็นอิสระและคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือน ก.ค. 2560 นี้

“การทำประชาพิจารณ์ต่างๆ อย่างกว้างขวางนี้ก็มีผลกระทบที่เราได้พอมองเห็นแล้ว ล่าสุดที่ปรึกษาท่านประธานแล้วก็เรียนเชิญสถาบันพระปกเกล้าเข้ามาเป็นผู้ประเมินว่ากฎหมายฉบับนี้มีผลกระทบในแง่บวก-ลบหรือไม่อย่างไร ทางคณะกรรมการฯ ก็หวังว่าเมื่อแก้ไข 14 ประเด็นแล้วจะทำให้เกิดผลกระทบในแง่บวก แต่ถ้าประเมินแล้วมีผลกระทบในด้านลบก็ต้องมาดูว่าลบตรงไหนแล้วแก้ไขก่อนจะตราเป็นกฎหมาย” นพ.มรุต กล่าว