ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะทำงานประชาพิจารณ์กฎหมายบัตรทองชี้ เหลือ 5 ประเด็นที่ยังมีความเห็นต่างในการแก้กฎหมาย ด้านเลขาธิการ สปสช.แนะทำการศึกษาหาข้อสรุปให้ตกผลึกเสียก่อนเพื่อให้เกิดการยอมรับ ขณะที่ปลัด สธ.ยืนยันแก้กฎหมายเพื่อสางปัญหาในเชิงบริหาร แต่ไม่กระทบสิทธิและคุณภาพบริการ ส่วนประธานคณะกรรมการแก้กฎหมายชี้ ไม่แตะเรื่องร่วมจ่าย ใช้ข้อความเหมือนกฎหมายเดิม ย้ำไม่มีใครเสียสิทธิ มีแต่จะได้เพิ่มขึ้น

วันที่ 21 มิ.ย.2560 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ได้จัดเสวนาสื่อมวลชน “แก้กฎหมายบัตรทองประชาชนได้อะไร” ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยมี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ..., นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมเสวนา

นพ.พลเดช กล่าวว่า ในทางวิชาการ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ออกแบบไว้ เพียงพอที่จะรับฟังความคิดเห็นได้อย่างถ้วนทั่ว ซึ่งข้อมูลในขณะนี้ มีผู้แสดงความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ 833 ความเห็น และจากเวทีประชาพิจารณ์ใน 4 ภูมิภาคอีก 789 ความเห็น รวมทั้งหมดเป็น 1,622 ความเห็น

นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า ในส่วนของการประท้วงของเครือข่ายภาคประชาชนที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นเรื่องปกติในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งจาก 14 ประเด็น ที่กำหนดไว้นี้ มีส่วนที่ถูกแสดงความคิดเห็นมากที่สุด 5 ประเด็น ประกอบด้วย

1.คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข

2.ประเด็นเรื่องการร่วมจ่าย

3.ประเด็นเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว

4.ประเด็นการจัดซื้อยารวม

และ 5.การจ่ายเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพให้แก่องค์กรที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

“เราใช้คำสั่งตามมาตรา 44 แก้ปัญหาหลายอย่างที่สะสมไว้ แต่ขณะนี้มีหลายจุดที่ต้องมีการทบทวนกฎหมาย ถ้าไม่แก้ตอนนี้ก็จะเสียโอกาสแก้ปัญหาในส่วนที่คาราคาซังอยู่ และเท่าที่ดูจากร่างกฎหมายก็ไม่เห็นมีอะไรที่แก้แล้วแย่ลงเลย ตอนนี้เราคงเดินหน้าต่อ คงไม่หยุดกระบวนการ โดยตามกำหนดการ เราจะประมวลความคิดเห็นที่ได้รับทั้งหมดเสนออาจารย์วรากรณ์ภายในวันที่ 30 มิ.ย.2560 นี้” นพ.พลเดช กล่าว

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในเบื้องต้นมี 4 ประเด็นจาก 14 ประเด็นที่ยังมีความเห็นต่างเกิดขึ้น แสดงว่ายังมีบางอย่างที่เป็นคำถามและต้องทำให้เกิดความชัดเจน ดังนั้นเสนอว่าทางคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือคณะทำงานประชาพิจารณ์ คงมีการบ้านต่อ เพื่อทำให้ 4-5 ประเด็นนี้ตกผลึกหรือลดช่องว่างทางความคิดให้น้อยลง

“ถ้าเป็นส่วนที่เห็นต่างแล้วไปแก้ตรงนั้น...อันตราย จากการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมายังมีส่วนที่เห็นต่างกัน มันมีภาพของความขัดแย้งซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น มันควรหาข้อสรุปร่วมกันในระดับหนึ่งเพื่อให้ยอมรับกันได้ ผมเสนอว่าประเด็นไหนที่ตกลงกันได้ก็เดินหน้าต่อ ทำข้อสรุปให้ชัดเจน ส่วนประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ ถ้าเป็นเรื่องทางวิชาการ เช่น การร่วมจ่าย หรือการแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว ก็ต้องมีการหาข้อมูล ทำวิจัยหรือหาหลักฐานเชิงประจักษ์ ส่วนปัญหาเรื่องการบริหาร ก็หาทางออกในเชิงปฏิบัติ โดยอาจไม่ต้องเขียนเป็นกฎหมายก็ได้” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงในส่วนที่เป็นปัญหาในเชิงการบริหาร แต่ไม่ได้กระทบกับสิทธิหรือคุณภาพการบริการ โดยปัญหาในเชิงบริหารที่ผ่านมาคือการตีความว่าเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพกำหนดไว้ชัดเจนว่าจ่ายให้กับค่าใช้จ่ายใดได้บ้าง ซึ่งไม่รวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตอบแทนบุคลากร นอกจากนี้ยังมีเรื่องค่าเยียวยาบุคลากรทางการแพทย์ที่ประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ และการแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งมีตัวอย่าง จ.สิงห์บุรี พอหักเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัวแล้วก็แทบไม่มีเงินเหลือไปซื้อยา

“นี่คือความจำเป็นที่ต้องมีการแก้กฎหมาย ถ้าไม่แก้ก็ไม่มีน้ำ ไฟ ไม่มีคำทำงาน คนที่ประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่ได้รับการเยียวยา ถามว่าประชาชนจะให้เกิดสิ่งเหล่านี้หรือ” นพ.โสภณ กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องมีการปรับปรุง เพราะจะใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ไปตลอดคงไม่ได้ และการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ก็นำเนื้อหาของคำสั่งตามมาตรา 44 มาชี้นำ และเพิ่มบางประเด็นเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น การให้เงินเยียวยาผู้ให้บริการ การจัดซื้อยารวม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าการแก้กฎหมายนี้ไม่มีใครได้รับสิทธิ์น้อยกว่าเดิม มีแต่จะเพิ่มขึ้นกว่าเดิมในอนาคต หลายประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ อาทิ การร่วมจ่าย ก็ไม่ได้แก้ไขอะไรเลย ยังใช้แบบเดียวกันกับกฎหมายเดิมปี 2545 เพราะข้อความนี้เหมาะสมแล้ว

“เราไม่ได้แก้อะไรเลย มาตรานี้เหมือนเก่า เพราะคิดว่ากฎหมายต้องคล่องตัว ตอนนี้ไม่มีการเก็บค่าบริการในประเทศไทย ฟรีหมดทุกคน แต่ถ้าเราไปแก้กฎหมายว่าต้องฟรีหมดทุกคน อันนี้จะทำร้ายคนยากจน เพราะคนที่มีเงินก็ไม่ต้องจ่าย ก็ไปเบียดคนยากไร้ให้ได้รับประโยชน์น้อยลง ถ้าเราเขียนไปแบบนี้ สมมุติในอนาคตมีการรักษาพยาบาลที่มีราคาแพง เราก็สามารถให้คนที่มีเงินร่วมจ่ายได้ มันก็มีความคล่องตัว” รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว

ส่วนประเด็นการขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนนั้น จะเอาประชาชนเป็นพันคนมานั่งร่างกฎหมายคงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ในคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายก็ไม่ได้มีแค่นักวิชาการจาก สธ. และ สปสช. อย่างเดียว แต่ยังมีตัวแทนภาคประชาชนด้วย และการทำประชาพิจารณ์ 4 ภาคนี้ก็คือการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของภาคประชาชน ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็จริงใจในการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปพิจารณา

รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวอีกว่า หลังจากได้รับรายงานประมวลความเห็นจากฝ่ายจัดประชาพิจารณ์แล้ว คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายจะปรับแก้ร่างกฎหมายในส่วนที่คิดว่าสมควรแก้ไข จากนั้นนำเสนอร่างกฎหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหากรัฐมนตรีเห็นชอบก็เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เข้าคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีก 3 วาระ กว่าจะประกาศบังคับใช้ ซึ่งคงกินเวลาอีกหลายเดือน

อนึ่ง ในช่วงท้ายของการเสวนาซึ่งผู้ดำเนินรายการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเสวนาได้ถามวิทยากรนั้น นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง ตัวแทนภาคประชาชน ได้พยายามแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามกับวิทยากร แต่ทางผู้ดำเนินรายการไม่อนุญาตให้พูด จนเกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย โดยนางสุนทรีขอให้สื่อมวลชนบันทึกว่าการเสวนาครั้งนี้ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้พูดแม้แต่นาทีเดียว