ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อเอ่ยถึง “นักเทคนิคการแพทย์” ภาพแรกที่คนทั่วไปรับรู้ได้ก็คือ ภาพของคนที่นั่งก้มหน้าก้มตาทำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็น (และบ่อยครั้งที่เลยไปถึงค่ำมืดดึกดื่น) อยู่ในห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ หรือ “ห้องแล็บ” คอยตรวจค้นหาสาเหตุของการเกิดโรค จนวันๆ แทบจะไม่มีโอกาสได้เจอหน้าผู้คน ซึ่งได้กลายเป็น “ภาพจำ” ของผู้คนที่เกิดขึ้นมาแล้วถึง 60 ปีเต็ม

แต่วันนี้ ภาพจำของนักเทคนิคการแพทย์ในวันวาน กำลังจะเปลี่ยนโฉมเป็นภาพใหม่ เป็นภาพของนักเทคนิคการแพทย์ที่เดินออกจากห้องแล็บไปสัมผัสชาวบ้านถึงชุมชน

นับตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะขับเคลื่อน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ผ่านแผนแม่บทการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) พร้อมทั้งส่งเสริมและสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนด้วยกลไก ระบบสุขภาพระดับอำเภอ (DHS : District Health System) ให้เข้มแข็งครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย ในการป้องกันโรค และสร้างเสริมสุขภาพในทุกกลุ่มวัย ลดความเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน ไปสู่การมีสุขภาพที่ดีและพึ่งพาตนเอง ด้วยความร่วมมือร่วมใจ ประสานพลังของทุกภาคส่วนในระดับอำเภอ

โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย ทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) แกนนำสุขภาพครอบครัว (กสค.) วัด โรงเรียน และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการกำหนดปัญหาสุขภาพร่วมกัน จัดลำดับความสำคัญของปัญหา หาเจ้าภาพในแต่ละปัญหา มีการออกแบบระบบสุขภาพรวมทั้งจัดสรร บุคลากร งบประมาณ อุปกรณ์ ยาเวชภัณฑ์ ความรู้และบริการทางการแพทย์ ผ่านระบบการให้บริการทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม ทำให้นักเทคนิคการแพทย์มีโอกาสได้ก้าวออกจากห้องแล็บ ไปสู่ชุมชนมากขึ้น ในฐานะหนึ่งในทีม DHS

ทรงราชย์ ไชยญาติ

“ทรงราชย์ ไชยญาติ” นักเทคนิคการแพทย์ จากโรงพยาบาลสันกำแพง จ.เชียงใหม่ หนึ่งในทีม DHS บอกว่า หากระบบบริการสุขภาพเน้นแต่การรักษา ตั้งรับ อัตรากำลังเจ้าหน้าที่จะไม่เพียงพอ จำเป็นต้องหาแนวร่วมในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น อสม. แกนนำสุขภาพครอบครัว (กสค.) อปท.รวมไปถึงทุนในชุมชน โดยเน้นการคัดกรองค้นหาโรคมากกว่ารักษาโรคซึ่งมีต้นทุนในการให้บริการสูงกว่า

ในช่วงการเยี่ยมเสริมพลังเพื่อการขับเคลื่อนระบบสุขภาพอำเภอผ่าน ”โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ติดดาว 5 ดาว 5 ดี” ใน ปี 2560 (รพ.สต.ติดดาวนี้ เป็นกลยุทธ์ของกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาคุณภาพ รพ.สต.ตามเกณฑ์คุณภาพ และมีการจัดระดับคุณภาพโดยการติดดาว) นั้น แต่ละสัปดาห์ “ทรงราชย์” จะลงพื้นที่ร่วมกับทีมประเมินเสริมพลัง DHS ไปยังชุมชนต่างๆ ในเขตบริการสุขภาพที่ 1 ที่ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดในภาคเหนือ โดยมี รพ.สต.เป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งมีการเชื่อมโยงระบบสุขภาพต่างๆ จากโรงพยาบาลแม่ข่าย ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.), โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.), โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) รวมทั้ง CUP: Contracting unit of Primary care (องค์กรบริหารจัดการด้านสุขภาพระดับพื้นที่ ส่วนใหญ่คือระดับอำเภอ) ซึ่งเขาเล่าว่า นักเทคนิคการแพทย์ก็จะทำหน้าที่ในบริบทของวิชาชีพตัวเอง ที่เรียกว่า “นักเทคนิคการแพทย์ชุมชน”

“ทรงราชย์” บอกว่าบทบาทของนักเทคนิคการแพทย์ชุมชน จะครอบคลุมเรื่องหลักๆ 4 อย่างด้วยกันคือ

(1) การวางระบบเทคนิคการแพทย์ปฐมภูมิ ร่วมกับระบบสุขภาพอื่นๆ ที่เน้นการค้นหาคัดกรอง ส่งเสริมป้องกัน มากกว่า ร้อยละ 75

(2) การร่วมให้บริการด้านเทคนิคการแพทย์และการควบคุมโรคระบาดในชุมชน

(3) การควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ทั้งการควบคุมคุณภาพภายใน (IQC) และภายนอก (EQA) ของแต่ละการทดสอบที่ รพ.สต.นั้นๆ ให้บริการ

และ (4) การประเมินและควบคุมระบบบริการ เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจและมั่นใจได้ว่าจะได้ข้อมูลสุขภาพของตนเอง ที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังป้องกันปัญหาสุขภาพต่อไป

“นักเทคนิคการแพทย์ชุมชน จะร่วมขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชน ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นให้ผลการตรวจทางห้องปฎิบัติการเทคนิคการแพทย์ ต่อการสร้างเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค วินิจฉัยและติดตามการรักษาโรคตามพยาธิสภาพ ผ่านการควบคุมคุณภาพทั้งจากภายใน (IQC) และภายนอก (EQA) และมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องภายใต้บริบทของพื้นที่" ทรงราชย์ บอก

ตัวอย่างของการวางระบบมาตรฐานห้องปฎิบัติการเทคนิคการแพทย์ในหน่วยบริการปฐมภูมิหรือ รพ.สต. ได้แก่ การทดสอบการตั้งครรภ์ (Urine pregnancy test), การตรวจอัลบูมินและน้ำตาลในปัสสาวะ (urine albumin&urine sugar),การคัดกรองในหญิงตั้งครรภ์, การคัดกรองโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง, การดูภาวะโภชนาการในเด็ก การเก็บตัวอย่างกรณีเกิดโรคระบาด เช่น โรคอุจจาระร่วงอย่างรุนแรง การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อค้นหาโรคเบาหวาน รวมไปถึงการสร้าง อสม.เจาะหาระดับน้ำตาลปลายนิ้วที่มีคุณภาพ ผ่านการอบรม ทดสอบก่อนให้ใบประกาศนียบัตรโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นต้น

“ทรงราชย์” บอกว่า ระบบสุขภาพแต่ละพื้นที่อาจไม่เหมือนกัน แต่ละพื้นที่ก็ออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่ตัวเองโดยต้องไม่ลืมหลักคิดที่ว่า “ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของระบบสุขภาพ” และต้องใช้ข้อมูลเพื่อบริหารจัดการระบบสุขภาพโดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเพื่อความยั่งยืน ให้ทุกชุมชนมีส่วนร่วมในระบบงานสาธารณสุขอย่างเข้มแข็ง ก็จะทำให้ประชาชนเกิดสุขภาวะที่ดี

วันนี้บริการงานด้านเทคนิคการแพทย์ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชนอย่างเต็มตัวแล้ว ถือได้ว่านักเทคนิคการแพทย์เป็นส่วนหนึ่งของทีมหมอครอบครัว (FCT: Family Care Team) รู้สึกสุขใจที่ได้เป็นฟันเฟืองในระบบสุขภาพได้เป็นส่วนหนึ่งในการ เข้าถึง-ค้นหา-คัดกรอง-รักษา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในชุมชน

“เข้าใจเขา เข้าใจโรค" ทรงราชย์บอก และว่าดีใจที่ได้ใช้ความรู้เทคนิคการแพทย์ให้เป็นประโยชน์กับชุมชน

“ทรงราชย์ ไชยญาติ” เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่างของนักเทคนิคการแพทย์ ที่นำวิชาความรู้เทคนิคการแพทย์ออกจากห้องปฏิบัติการไปให้ประชาชนได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการทางเทคนิคการแพทย์ได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อการสร้างเสริมและป้องกันโรคให้ประชาชน มิใช่เพียงการนั่งทำงานแต่ในห้องปฏิบัติการแบบเดิมที่เคยทำมาตลอดระยะเวลา 60 ปีอีกแล้ว

“นักเทคนิคการแพทย์ชุมชน” คือบทบาทใหม่ของนักเทคนิคการแพทย์ในวันนี้ -60 ปีเทคนิคการแพทย์ไทย ก้าวไกลไปถึงชุมชน ก้าวไปหาประชาชน

ผู้เขียน ทนพ.อรรณพ สุภานันท์