ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รายงานจาก CNN เรื่อง How health care works around the world โดย Meera Senthilingam มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบบประกันสุขภาพภาครัฐว่าขึ้นอยู่กับ จำนวนเตียง แพทย์ และอายุคาดเฉลี่ยของประชากร โดยได้ยกตัวอย่างอังกฤษ เปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายประกันสุขภาพภาครัฐ พร้อมทั้งเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ มีรายละเอียดดังนี้

แนวโน้มอุปสงค์ต่อบริการสาธารณสุขที่สูงขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อการบริหารงบประมาณและภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขในอังกฤษ

ข้อมูลจากระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (National Health Service, NHS) คาดการณ์ว่า สถิติผู้ป่วยใช้บริการแผนกฉุกเฉินจะเพิ่มขึ้นจาก 4.5 ล้านคนต่อไตรมาสในปี 2547 มาที่เกือบ 6 ล้านคนต่อไตรมาสภายในสิ้นปีนี้ ทำให้โรงพยาบาลพยายามรณรงค์ให้ผู้ป่วยเลี่ยงการใช้บริการแผนกฉุกเฉินโดยไม่จำเป็น ขณะที่บางแห่งก็หันมาติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสุขภาพและภาวะอารมณ์ที่ผู้ป่วยสามารถใช้งานเองได้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยจำนวนมากและลดภาระงานของบุคลากร

“มุมผู้ป่วย” ที่โรงพยาบาล Hetherington Group Practice ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับให้ผู้ป่วยตรวจความดันโลหิตและภาวะอารมณ์ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ดีอุปสงค์ต่อการบริการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นนั้นไม่ได้เป็นผลจากจำนวนผู้ป่วย (ซึ่งแท้จริงแล้วลดลง) หากแต่เป็นผลจากการที่ผู้คนมีอายุขัยที่นานขึ้นและรุมเร้าไปด้วยโรคเรื้อรังที่รักษาได้ยาก ปัจจัยดังกล่าวทำให้แพทย์ต้องรับมือกับภาระงานมากขึ้น และยิ่งหนักหนาขึ้นไปอีกสำหรับแพทย์ที่ต้องควบภาระด้านงานบริหารโรงพยาบาล

นพ.สตีฟ โมวเล แพทย์ทั่วไปที่โรงพยาบาล Hetherington Group Practice ในกรุงลอนดอนของอังกฤษต้องติดตามอาการผู้ป่วยทางโทรศัพท์เฉลี่ยวันละ 50 ราย

ผลสำรวจความคิดเห็นชี้ว่าชาวอเมริกันยังคงเห็นต่างต่อร่างกฎหมายสุขภาพฉบับใหม่

ในอีกด้านหนึ่งผู้ป่วยชาวอังกฤษไม่ว่าจะยากจนหรือรวยล้นฟ้าต่างได้รับบริการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายนับตั้งแต่ NHS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2491 โดยอาศัยงบประมาณจากภาษีและเงินประกันสุขภาพภาคบังคับที่เก็บจากรายได้ของประชาชน แต่ถึงกระนั้นอุปสงค์ต่อบริการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นในทุกระดับก็กำลังสร้างแรงกดดันต่อการบริการสาธารณสุขของอังกฤษโดยเฉพาะในด้านงบประมาณ

โฉมหน้าบริการรักษาพยาบาลที่เปลี่ยนไป

ข้อมูลจากธนาคารโลกสะท้อนว่างบประมาณสาธารณสุขของอังกฤษมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลง ขณะที่ผู้ป่วยกลับมีอายุมากขึ้นและมีโรคเรื้อรังรุมเร้าซึ่งทำให้ต้นทุนการรักษาสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบตัวเลขที่สูงขึ้นของการใช้บริการห้องฉุกเฉินมากขึ้นสวนทางกับจำนวนเตียงที่ลดลง และยังพบข้อจำกัดในการให้บริการดูแลเชิงสังคมแก่ผู้ป่วยอันเป็นอุปสรรคต่อการจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล

นโยบายประหยัดรายจ่ายสาธารณสุขส่งผลให้ผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนต้องรอการรักษานานขึ้น การประหยัดรายจ่ายโดยให้ความสำคัญต่อผู้ป่วยเร่งด่วนเป็นหลักดังกล่าว นอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการดูแลผู้ป่วยอายุมากที่มีโรคเรื้อรังแล้ว ในอีกทางหนึ่งยังส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ให้ก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ด้วย จนนำมาสู่เสียงเรียกร้องให้เพิ่มงบประมาณเพื่อลดภาระหนี้ของโรงพยาบาลอันเนื่องมาจากมีงบประมาณไม่เพียงพอ

เพิ่มเงินแล้วจะดีขึ้นจริงหรือ

อังกฤษเพิ่งอนุมัติเพิ่มงบประมาณปี 2560 อีก 2,000 ล้านปอนด์ (ราว 85,000 ล้านบาท) สำหรับอุดหนุนการดูแลด้านสังคมตลอด 3 ปีนับจากนี้เพื่อลดภาระ NHS ขณะเดียวกันก็อัดฉีดงบประมาณมหาศาลแก่ NHS เพื่อสนับสนุนการให้บริการแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินให้สามารถรับมือกับแนวโน้มอุปสงค์ต่อการบริการที่เพิ่มสูงขึ้น

รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ตัดงบประมาณวิจัยด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ลงฮวบฮาบ

แม้ผู้เชี่ยวชาญต่างขานรับมาตรการดังกล่าวแต่ก็ยังคงมองว่าอาจยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ ดังที่มีรายงานชี้ว่าแม้การเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลในอังกฤษอยู่ในระดับดีแต่ก็ยังคงพบปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการให้บริการซึ่งยังคงล้าหลังอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเยอรมนีและฝรั่งเศสซึ่งเหนือกว่าอังกฤษทั้งในแง่จำนวนเตียง แพทย์ และอายุคาดเฉลี่ยของประชากร

ที่ผ่านมาเยอรมนีและฝรั่งเศสทุ่มเม็ดเงินราวร้อยละ 11 ของจีดีพีไปกับบริการสาธารณสุขและบริหารงบประมาณด้วยระบบประกันสังคม ซึ่งแม้ผู้ป่วยยังคงต้องเสียค่าธรรมเนียมที่จุดบริการแต่ส่วนใหญ่ก็สามารถเบิกย้อนหลังได้ ต่างจากระบบประกันสุขภาพส่วนบุคคลในสหรัฐอเมริกาซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์ว่านำไปสู่การแสวงหากำไรและปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการบริการรักษาพยาบาลทั้งที่สหรัฐเป็นประเทศที่มีงบประมาณสาธารณสุขสูงสุดในกลุ่มประเทศตะวันตก (ราวร้อยละ 17 ของจีดีพี) และสะท้อนว่าการเพิ่มงบประมาณเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และการจัดตั้งระบบสำหรับบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดต่างหากที่เป็นกุญแจสำคัญ

เมื่อเทียบกับสหรัฐจะเห็นได้ว่า ระบบบริการสาธารณสุขจากเงินภาษีและงบประมาณประกันสังคมที่ใช้ในอังกฤษและยุโรปมีคุณภาพการบริการที่ดีกว่าด้วยต้นทุนการรักษาที่ต่ำกว่า นอกจากนี้หลายประเทศในยุโรปยังมีอัตราผู้ป่วยถือประกันสุขภาพส่วนบุคคลที่ต่ำ เช่น อังกฤษและเยอรมนีซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 11 และร้อยละ 10 ตามลำดับ

บริการรักษาพยาบาลคืออะไร

นพ.ริชาร์ด เคอร์ สมาชิกราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งอังกฤษให้ความเห็นว่า ผู้ป่วยควรได้รับบริการรักษาพยาบาล ณ จุดให้บริการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังได้ยกเยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นกรณีตัวอย่างของบริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพโดยอาศัยงบประมาณจากการเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่า ซึ่งหลายประเทศอาจนำจุดเด่นมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของตน

ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในสหรัฐต่างวิตกถึงร่างกฎหมายสุขภาพฉบับใหม่

นพ.เคอร์ ยังได้แสดงความกังขาถึงประเด็นต้นทุนการรักษาพยาบาลที่ต่ำกว่าของอังกฤษว่า อาจไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงหากผู้ป่วยยังคงไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที รวมถึงไม่ได้รับการรักษาพยาบาลหรือการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งนับเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งในสภาพการณ์ปัจจุบันซึ่งประชากรมีอายุคาดเฉลี่ยยาวนานขึ้น

นพ.ริชาร์ด เคอร์ ออกมาบอกเล่าถึงปัญหาเตียงไม่เพียงพอ

นพ.เคอร์ชี้ว่า ปัญหาการครองเตียงจะก่อให้เกิดผลกระทบลามไปสู่ปัญหาอื่น หากผู้ป่วยได้รับการสนับสนุนด้านสังคมพร้อมสรรพก็อาจไม่จำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งในอีกทางหนึ่งก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นสามารถได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที โดยยังได้ชี้ถึงความจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องให้มีการหารือร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนในประเด็นการเพิ่มงบประมาณสาธารณสุขเพื่อปรับปรุงบริการรักษาพยาบาลให้มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน

อนึ่ง บริการรักษาพยาบาลของอังกฤษในปัจจุบันยังไม่ได้ครอบคลุมบางหัตถการ เช่น ศัลยกรรมตกแต่ง ซึ่ง นพ.เคอร์มองว่า การหารือเพื่อกำหนดนิยามของบริการรักษาพยาบาลและบริการที่จำเป็นจะส่งผลดีต่อการวางแนวทางการให้บริการและการจัดสรรงบประมาณสาธารณสุข และเชื่อว่าท้ายที่สุดจะนำไปสู่การให้บริการโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีความพึงพอใจที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดีการปฏิรูปดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อคำนึงถึงความท้าทายต่างๆ ทั้งตัวเลขประชากรสูงอายุซึ่งป่วยเป็นโรคเรื้อรัง และระบบการรักษาพยาบาลและการสนับสนุนด้านสังคมแก่ผู้ป่วย

แปลและเรียบเรียงจาก How health care works around the world โดย Meera Senthilingam : CNN