ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอวรวิทย์” ผอ.รพ.อุ้มผาง ชี้ กองทุนคืนสิทธิช่วยให้ผู้มีปัญหาสถานะทั่วประเทศเข้าถึงบริการ ชาวบ้านรู้สึกไม่ถูกรัฐทอดทิ้ง เปรียบงบประมาณเป็นแหล่งทุนช่องทางที่ 4 เสริมสภาพคล่องโรงพยาบาล ลดภาระค่าตอบแทน-สาธารณูปโภค

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวถึงการดำเนินงานของกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 23 มี.ค.2553 ว่า ในภาพรวมการเข้าถึงบริการของคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิซึ่งอยู่ระหว่างการได้รับสัญชาติไทยนั้นดีขึ้นเยอะมาก โดยภาพนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะใน จ.ตาก เพียงอย่างเดียว แต่เชื่อว่าทั่วประเทศไทยก็คงคล้ายคลึงกัน

นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า การที่รัฐให้การดูแลในเรื่องประกันสุขภาพแห่งชาวบ้านกลุ่มนี้ ทำให้เขาเหล่านั้นเกิดความตระหนักและรู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าสิทธิด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา ก็จำเป็นต้องมีการพัฒนากันต่อไป แต่ว่ากันเฉพาะเรื่องกองทุนคืนสิทธินั้นส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี และเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

“ต้องเข้าใจว่าเมื่อก่อนโรงพยาบาลก็ให้บริการกับคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว ซึ่งผมไม่ทราบว่าพื้นที่อื่นเป็นอย่างไร แต่ในเขตอำเภออุ้มผางชาวบ้านเข้ามารับบริการอยู่แล้ว ฉะนั้นการมีกองทุนคืนสิทธิพูดง่ายๆ ก็คือโรงพยาบาลก็จะได้เงินมาช่วยสนับสนุนเยอะขึ้น โดยทั้งจังหวัดตากมีผู้มีปัญหาประมาณ 6 หมื่น – 7 หมื่นราย ได้ร่วมๆ 60-70 ล้านบาท และเฉพาะที่อุ้มผางได้ราวๆ 7-8 ล้านบาท และก็ยังมีเงินอีกส่วนหนึ่งที่กันไว้ที่จังหวัดเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่องอีก พูดจริงๆ แล้วก็คือกองทุนนี้ช่วยได้เยอะมากๆ” นพ.วรวิทย์ กล่าว

นพ.วรวิทย์ กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลใน จ.ตาก ทุกโรงพยาบาลให้การดูแลรักษาบุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิอยู่แล้ว โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ยากจนจึงเป็นการให้การรักษาโดยที่ไม่ได้เก็บค่ารักษาพยาบาลอะไร นั่นหมายความว่าชาวบ้านก็เข้าถึงบริการอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีเงินมาช่วยโรงพยาบาลให้โรงพยาบาลไม่ต้องไปแบกรับภาระที่หนักมากจนเกินไป

นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า ทุกโรงพยาบาลคงบริการจัดการงบประมาณในลักษณะคล้ายคลึงกัน คือได้เงินจากแหล่งไหนมาก็จะนำมารวมกันแล้วค่อยบริหารจัดการ ต้องเข้าใจว่างบประมาณที่โรงพยาบาลรัฐได้นั้นก้อนใหญ่ก็มาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายได้จากโรงพยาบาลก็คือเบิกจากกองทุนสวัสดิการข้าราชการ และสำนักงานประกันสังคม ฉะนั้นงบประมาณจากกองทุนคืนสิทธิ์ก็ถือเป็นแหล่งรายได้อีกช่องทางหนึ่งของโรงพยาบาลรัฐ

“ที่ผ่านมาเราไม่ได้เก็บเงินจากคนไข้ และโรงพยาบาลก็ไม่ได้งบอะไรจากกระทรวงสาธารณสุขเลย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างบุคลากร ก็ไม่เคยได้ ฉะนั้นแหล่งเงินของเราก็จะมีเท่านี้ นั่นหมายความว่าโรงพยาบาลในจังหวัดที่มีคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เราจะมีแหล่งรายได้เพิ่มมาเป็นแหล่งที่ 4 เลย”นพ.วรวิทย์ กล่าว

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าวอีกว่า ถามว่าเมื่อโรงพยาบาลได้เงินทั้ง 4 แหล่งมา ว่าเฉพาะโรงพยาบาลอุ้มผาง เราก็จะเอาเงินนั้นมารวมกันเพื่อไปจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ค่าน้ำค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ฉะนั้นมันจึงเป็นแหล่งรายได้ที่ทำให้โรงพยาบาลดำเนินงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม

“การมีประกันสุขภาพมันสำคัญนะ คือทำให้เขาเกิดความมั่นใจในการเข้าถึงบริการ ไม่เช่นนั้นเขาก็จะไม่เกิดความมั่นใจ ซึ่งการเข้าถึงบริการของคนกลุ่มนี้ที่มากขึ้นและสถานพยาบาลมีรายได้มากขึ้นนั้น เม็ดเงินก็จำเป็นต้องล้อตามหรือเลียนแบบสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยสาเหตุที่ต้องเท่ากันก็เพราะคนเหล่านี้อีกหน่อยก็จะกลายเป็นคนที่มีสัญชาติไทยอยู่แล้ว เพียงแค่รอการดำเนินการเท่านั้น หากจะขยับเงินกลุ่มนี้ก็ต้องขยับบัตรทองด้วย เพราะเขาเป็นคนไทยเท่าเทียมกัน” นพ.วรวิทย์ กล่าว

โรงพยาบาลใน จ.ตาก ทุกโรงพยาบาลให้การดูแลรักษาบุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิอยู่แล้ว โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ยากจนจึงเป็นการให้การรักษาโดยที่ไม่ได้เก็บค่ารักษาพยาบาลอะไร นั่นหมายความว่าชาวบ้านก็เข้าถึงบริการอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีเงินมาช่วยโรงพยาบาลให้โรงพยาบาลไม่ต้องไปแบกรับภาระที่หนักมากจนเกินไป