ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกยกไทยจัดการยาได้ดี ผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็น ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบุการมีเภสัชกรประจำใน รพ.ทุกระดับยกเว้น รพ.สต.ช่วยในการกำกับติดตาม หากไทยสามารถสรุปบทเรียนเพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้ศึกษาเรียนรู้ความสำเร็จนี้ได้ ก็จะมีประโยชน์มาก แนะบูรณาการระบบบริหารจัดการยาระหว่าง สธ. กรมบัญชีกลาง สปสช. และลดการใช้ยานอกบัญชียาหลักจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกสำนักงานเอเซียใต้-ตะวันออกหรือ WHO/SEARO ได้รายงานผลการวิเคราะห์การบริหารจัดการยาในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยว่า ประเทศไทยมีระบบบริการสุขภาพที่ยอดเยี่ยมมาก ภายใต้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการและยาที่จำเป็นผ่านระบบประกันสุขภาพภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีระบบบริหารจัดการยาที่ดีมากด้วย โดยที่ยาจำเป็นส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 นั้นสามารถเข้าถึงได้ในสถานพยาบาลของรัฐ และพบการไม่มียาคงคลังจำนวนน้อยมาก ขณะที่การกระจายก็มีประสิทธิภาพ โดยมีระบบการกระจายยาให้กับโรงพยาบาลโดยตรง สำหรับยาที่ใช้ในสถานีอนามัยนั้นบริหารจัดการโดยโรงพยาบาลชุมชน

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ในรายงานดังกล่าวยังระบุว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลเกิดจากการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และโรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็มียาชื่อสามัญใช้เองในโรงพยาบาล จึงมีความจำเป็นต้องส่งเสริมการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ขณะเดียวกันการมีระบบบริหารจัดการที่ชัดเจนและการมีเภสัชกรประจำอยู่ในโรงพยาบาล ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีการติดตามด้านคุณภาพ โดยระบบบริหารจัดการยาในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ ก็เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยสมบูรณ์แล้ว

ทั้งนี้ WHO/SEARO ระบุว่า เหตุผลสำคัญของความสำเร็จที่น่าประทับใจมากดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากการมีเภสัชกรในทุกระดับของระบบบริการสาธารณสุข (ยกเว้นสถานีอนามัย) หากประเทศไทยสามารถสรุปบทเรียนในการบริหารจัดการและการให้บริการด้านยาเพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้ศึกษาและเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศไทยได้ ก็จะยิ่งมีประโยชน์มาก และมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการบูรณาการระบบบริหารจัดการยาของทุกกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“อย่างไรก็ตาม WHO/SEARO ได้ชี้ว่ายังคงมีความจำเป็นต้องมีมาตรฐานสำหรับการกำกับติดตามในระดับชาติ เช่น การบูรณาการระบบบริหารจัดการยา ไม่ว่าจะเป็นระบบการกำกับติดตามของกระทรวงสาธารณสุข ระบบการกำกับติดตามการใช้ยาของกระทรวงการคลัง และระบบของ สปสช. ลดการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และวิเคราะห์การจัดสรรยาจากโรงพยาบาลชุมชนให้กับสถานีอนามัย เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาที่จำเป็นในสถานีอนามัยด้วย” นางสาวกรรณิการ์ กล่าว

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าการจัดการยาของไทยเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็นภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับการยอมรับในระดับโลก เมื่อเร็วๆ นี้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) ก็ได้นำบุคลากรสาธารณสุขจาก 46 ประเทศทั่วโลกมาศึกษาดูงานเพื่อเรียนรู้การจัดระบบบริหารจัดการยาของไทยที่ สปสช.และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มาแล้ว ดังนั้นก็ควรรักษาสิ่งนี้ไว้และพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไปด้วย

ข้อมูลอ้างอิง

http://www.searo.who.int/entity/medicines/thailand_situational_assessment.pdf?ua=1

“อย่างไรก็ตาม WHO/SEARO ได้ชี้ว่ายังคงมีความจำเป็นต้องมีมาตรฐานสำหรับการกำกับติดตามในระดับชาติ เช่น การบูรณาการระบบบริหารจัดการยา ไม่ว่าจะเป็นระบบการกำกับติดตามของกระทรวงสาธารณสุข ระบบการกำกับติดตามการใช้ยาของกระทรวงการคลัง และระบบของ สปสช. ลดการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และวิเคราะห์การจัดสรรยาจากโรงพยาบาลชุมชนให้กับสถานีอนามัย เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาที่จำเป็นในสถานีอนามัยด้วย”