ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังคุณภาพและความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ด้านอาหารทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา พบว่า สินค้ามีแนวโน้มได้มาตรฐานมากขึ้น โดยตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ลดลง พร้อมกระตุ้นกลุ่มผู้ผลิตอาหารชุมชนรักษามาตรฐานไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะก้าวสู่การแข่งขันในตลาดทั้งระดับประเทศและสากล

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ด้านอาหารมีการผลิตและจำหน่ายอย่างแพร่หลาย เป็นที่นิยมของผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว ทำให้ผู้ผลิตและหน่วยงานภาครัฐต้องใส่ใจคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ได้เฝ้าระวังคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ด้านอาหาร ประกอบด้วย ตัวอย่างที่สุ่มเก็บจากสถานที่ผลิตและจำหน่ายทั่วประเทศโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งตัวอย่างที่นำส่งโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มแม่บ้าน นำมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทั้งด้านจุลชีววิทยาและด้านเคมี ด้านจุลชีววิทยา ตรวจสอบการปนเปื้อนจุลินทรีย์บ่งชี้ถึงคุณภาพอาหาร ได้แก่ จำนวนจุลินทรีย์รวม ยีสต์และรา จุลินทรีย์บ่งชี้สุขลักษณะการผลิต ได้แก่ อีโคไล (E. coli) โคลิฟอร์ม (Coliforms) และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น ซาลโมเนลล่า (Salmonella spp.) สเเตปฟิโลคอกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium perfringens) บาซีลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) ด้านเคมี ตรวจหาปริมาณวัตถุกันเสีย(กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก) และสีสังเคราะห์

ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2559 รวมทั้งสิ้น 7,269 ตัวอย่าง พบว่า ผ่านมาตรฐาน ร้อยละ 88.3, 89.6, 90.8, 93.1 และ 94.6 ตามลำดับ ซึ่งการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ เกินมาตรฐานมีแนวโน้มลดลง

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ โดยผลิตภัณฑ์ที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มอาหารหมักพื้นเมืองที่แปรรูปจากเนื้อสัตว์ เช่น แหนม ปลาส้ม แม้ว่าอาหารกลุ่มนี้ ได้ผ่านกระบวนการหมักที่อาจช่วยทำลายหรือยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ แต่ยังมีโอกาสพบการปนเปื้อนจุลินทรีย์ต่างๆ รวมถึงเชื้อโรคอาหารเป็นพิษได้ จึงทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารดิบ โดยไม่ผ่านความร้อน ซึ่งพบว่ายังคงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคบางกลุ่ม

ดังนั้นควรนำอาหารประเภทนี้มาปรุงให้สุกด้วยความร้อนก่อนบริโภค เพื่อทำลายเชื้อจุลินทรีย์และป้องกันการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มอาหารดิบ ซึ่งพบว่า กลุ่มเนื้อสัตว์ที่ผ่านการทำให้แห้ง และกลุ่มเครื่องแกงมีปัญหาการปนเปื้อนจุลินทรีย์เป็นส่วนใหญ่เช่นกัน แต่เนื่องจากอาหารประเภทนี้ต้องผ่านความร้อนก่อนบริโภค จึงไม่เสี่ยงเหมือนอาหารหมักพื้นเมืองที่แปรรูปจากเนื้อสัตว์

นพ.สุขุม กล่าวต่ออีกว่า ในกลุ่มเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทมีบางส่วนที่ไม่ผ่านมาตรฐาน เพราะมีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ ยีสต์และราเกินเกณฑ์ ซึ่งทำให้เน่าเสียได้ง่าย ปัญหาที่พบเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนเกินเกณฑ์ ในอาหารและเครื่องดื่มอาจมาจากสาเหตุต่างๆ เช่น การใช้วัตถุดิบที่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ในปริมาณสูง การล้างและเตรียมวัตถุดิบไม่ดีพอ ภาชนะและอุปกรณ์ไม่สะอาด การผลิตและการเก็บรักษาไม่ถูกสุขลักษณะ ส่วนปัญหาด้านเคมี พบการใช้วัตถุกันเสียชนิดกรดโซอิกเกินเกณฑ์เล็กน้อย และพบการใช้สีสังเคราะห์ในอาหารกลุ่มผักผลไม้ดอง/แช่อิ่ม และกลุ่มเครื่องดื่ม บ้างเล็กน้อยเช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสีสันใกล้เคียงกับธรรมชาติ เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับสีสังเคราะห์