ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ประกาศนโยบายอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาลทั่วประเทศภายในปี 2561ให้อาหารที่ปรุงจากโรงครัวของโรงพยาบาลมีความปลอดภัย 100 % พร้อมเตรียมเสนอกรมบัญชีกลางปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้สามารถซื้อผักปลอดภัยจากกลุ่มเกษตรกร ในราคาที่เหมาะสม

นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น จ.ขอนแก่น ว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยเจ็บป่วยร่างกายอ่อนแออยู่แล้วไม่ควรจะได้รับสารพิษเพิ่มเติมจากอาหารที่รับประทานระหว่างพักรักษาตัว ได้กำชับให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยในปี 2560 เริ่มที่โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง และขยายไปโรงพยาบาลชุมชนในปี 2561 โดยให้โรงพยาบาลดำเนินการ ดังนี้

1.จัดหาผักและผลไม้ปลอดสารพิษจากเกษตรกรที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบ เช่นวิสาหกิจชุมชน

2.มีมาตรการควบคุม ตรวจสอบ คุณภาพความปลอดภัยของอาหารทุกกระบวนการ ตั้งแต่ การผลิต วัตถุดิบ การขนส่ง การปรุง

3.โรงครัวที่ปรุงอาหารผู้ป่วยและร้านอาหารในโรงพยาบาลผ่านมาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหารตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้ ผู้ป่วยและญาติได้รับประทานอาหารปลอดภัยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ เพื่อให้โครงการอาหารปลอดภัยมีความยั่งยืน สร้างแรงจูงใจให้กลุ่มเกษตรผู้ปลูกผักปลอดสารพิษ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมกำหนดแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างผักปลอดภัย โดยกำหนดคุณลักษณะของผักปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ อาทิ ลักษณะทางกายภาพของผักทุกชนิด ลักษณะทางชีวภาพ มาตรการควบคุมกำกับ โดยการบริหารสัญญาซื้อวัสดุบริโภค กำหนดระยะเวลาจ่ายเงินให้รวดเร็วขึ้น เป็นต้น เพื่อช่วยให้เกษตรจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ ซึ่งหากมีการปลูกผักปลอดสารพิษออกสู่ตลาดต่อเนื่อง เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ราคาจะถูกลงช่วยให้ประชาชนเข้าถึงได้

สำหรับที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น เป็นโรงพยาบาลขนาด 1,000 เตียง ในปี 2559 มีผู้ป่วยในเข้ารับบริการประมาณ 80,000 ราย และเป็นโรงพยาบาลต้นแบบอาหารปลอดภัยอีกแห่งหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขอาหารที่ปรุงจากโรงครัวของโรงพยาบาลมีความปลอดภัย 100% โดยในแต่ละปีโรงพยาบาลได้จัดซื้อผักปลอดสารพิษ 68 ชนิด จากกลุ่มเกษตรกร จำนวนกว่า 1.4 แสนกิโลกรัม มีโรงครัวผ่านมาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหารตามเกณฑ์ที่กำหนด และเจ้าหน้าที่ผ่านการอบรมครบทุกคน โดยผักทุกชนิดผ่านการสุ่มตรวจเดือนละ 2 ครั้ง หากพบจะมีการเตือนและลงโทษโดยการปรับลดราคาลงร้อยละ 50