ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานชมรม ผอ.รพ.ชุมชน หวั่นออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ กระทบโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ชี้อาจต้องปิดห้องเอกซเรย์เพราะไม่สามารถหาเจ้าหน้าที่ RSO มาประจำเครื่องตลอด 24 ชั่วโมงได้ ย้ำจุดยืนเครื่องรังสีวินิจฉัยควรให้กระทรวงสาธารณสุขดูแล

นพ.สรลักษณ์ มิ่งไทยสงค์ ผู้อำนวยการ รพ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือคัดค้าน พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 2559 ไปยัง รมว.สาธารณสุข, รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากตาม Time line แล้ว กฎกระทรวงที่จะออกตามกฎหมายฉบับนี้คาดว่าจะผ่านการพิจารณาจาก สนช. ในวันที่ 1 พ.ย. 2560 และจะมีผลกระทบกับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) กว่า 800 แห่งทั่วประเทศทันทีถึงขั้นต้องปิดห้องเอกซเรย์เพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมายนี้

นพ.สรลักษณ์ กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวกำหนดมาตรการที่เข้มข้น โดยต้องให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) ประจำเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งปัญหาของ รพช.คือไม่มีเจ้าหน้าที่ RSO หรือถ้ามีเจ้าหน้าที่รังสีก็เป็นเจ้าหน้าที่ที่เรียนมา 1-2 ปี ไม่ใช่วุฒิปริญญาตรี บางแห่งถึงขั้นต้องเอาลูกจ้างมาฝึกอบรม ดังนั้นแม้แต่ชั่วโมงเดียวก็ไม่มีคนประจำเครื่องหากยึดตามกฎหมายนี้

นพ.สรลักษณ์ กล่าวอีกว่า หากกฎกระทรวงตามกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับ รพช.ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย การปฏิบัติตามกฎหมายในที่นี้คือจำเป็นต้องปิดห้องเอกซเรย์เพราะไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายนี้ ไม่สามารถหา RSO มาประจำตลอด 24 ชั่วโมงได้ หาก รพช.ดำเนินการไปก็จะมีความผิดโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 5 แสนบาท

“การบังคับใช้ที่ว่าต้องมี RSO ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่ง รพช.เราไม่มีรังสีแพทย์ ไม่มีเจ้าหน้าที่รังสีที่จบปริญญา และถึงมีก็ยังต้องไปสอบใบอนุญาตอีก ดังนั้นถ้าบังคับใช้เข้มข้นแบบนี้ก็คงต้องปิดห้องเอกซเรย์แน่ๆ เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายแล้วใช้วิธีการส่งตัวไปโรงพยาบาลที่มีความพร้อมเช่นโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงเรียนแพทย์แทน ชาวบ้านก็จะเดือดร้อน แค่ปิดห้องเอกซเรย์วันเดียวก็เดือดร้อนกันหมดแล้ว ดังนั้นก็หวังว่ากฎหมายกฎกระทรวงจะไม่ผ่าน สนช.” นพ.สรลักษณ์ กล่าว

ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า อยากเรียกร้องให้นำเรื่องการบังคับใช้กับเครื่องรังสีวินิจฉัยออกไปจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติเลย เพราะกฎหมายนี้ควรไปบังคับในส่วนของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับการแพทย์ควรให้อยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีมาตรฐานและระบบการกำกับดูแลอยู่แล้ว และการต่อสู้ในประเด็นนี้ควรเป็นบทบาทของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ไม่ใช่ให้ผู้ปฏิบัติออกมาต่อสู้