ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ณ อบต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) เขต 11 สุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว (Long Term Care: LTC) ในพื้นที่ อ.คีรีรัฐนิคม พร้อมแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน

นางสุวรรณี นิยมจิต พยาบาลวิชาชีพ รพ.คีรีรัฐนิคม กล่าวว่า ความสำเร็จของการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงของ อ.คีรีรัฐนิคมนั้น ใช้เครือข่ายเข้าช่วย ผนวกเข้ากับการใช้งานวิจัยของกรมการแพทย์ที่เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมมาช่วยดำเนินงาน และได้ขยายให้ครบทุกตำบลในอำเภอ ปัจจัยความสำเร็จคือ อบต.ให้ความร่วมมือและสนับสนุน ก็ทำให้ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่เข้าถึงบริการได้ยาก เพราะไม่มีใครพามาหาหมอ ไม่มีญาติดูแล ก็ได้เข้าถึงบริการมากขึ้น เพราะมีการจัดระบบในระดับพื้นที่ ใช้ชุมชนเป็นฐานในการช่วยเหลือ

นายธีรนันต์ ปราบราย ปลัด อบต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ อบต.บ้านทำเนียบดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงในลักษณะของจิตอาสา ต่อมาปี 2559 เริ่มเป็นระบบมากขึ้นหลังจากมีงบประมาณจาก สปสช.มาสนับสนุน เฉพาะที่ ต.บ้านทำเนียบได้ประมาณ 1.2 ล้านบาท โดยเป็นงบจากกองทุนสุขภาพตำบลของ อบต.ที่ได้รับจาก สปสช.ประชากรละ 45 บาท และ อบต.สมทบอีก 100% รวมถึงงบจากกองทุน LTC ที่ได้รับในอัตราผู้สูงอายุคนละ 5000 บ. โดยท้องถิ่นให้งบประมาณสนับสนุน รวมถึงการอำนวยความสะดวกเรื่องรถรับส่งผู้สูงวัยไป รพ. การเดินทางต่างๆ ขณะที่ฝ่ายสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ และมีอาสาสมัครในชุมชนคอยทำหน้าที่ดูแล

นางสาวธัญญาทิพ สุขปาน พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ รพ.สต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงติดสังคมใน ต.บ้านทำเนียบเริ่มมีความชัดเจนโดยการทำเป็นระบบเมื่อปี 2559 และ 2560 จากเดิมที่ดูแลในลักษณะของจิตอาสา เมื่อมีงบประมาณสนับสนุนชัดเจน สิ่งที่แตกต่าง คือ มีการจัดระบบแยกส่วนเฉพาะ เน้นในกลุ่มผู้สูงวัยทั้งที่ติดสังคม ติดบ้าน และติดเตียง ทาง รพ.สต.บ้านทำเนียบมีการคัดกรองและค้นหากลุ่มผู้สูงวัยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการเจอ 27 ราย เข้าไปดูแลโดยมีผู้ดูแลหรือ Care Giver ที่ได้รับการอมรมเข้าไปดูแล

“ถือว่าประสบความสำเร็จ ผู้สูงอายุได้รับการดูแลมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเปลี่ยนจากผู้ป่วยติดเตียง มาเป็นติดบ้าน จากติดบ้านมาเป็นติดสังคม ทั้งนี้คนที่ทำหน้าที่จริงๆ คือ อสม. ซึ่งเป็นผู้ดูแลหรือ Care Giver โดย รพ.สต.ได้นำ อสม.มาอบรมให้ความรู้เรื่องภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ และอาการหลอดเลือดในสมองที่นำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต รวมถึงการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย” นางสาวธัญญาทิพ กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ สปสช.ได้รับมอบจากรัฐบาลเพื่อดำเนินการเชิงรุกจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่บ้านและชุมชน ร่วมกับ อปท. ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 จำนวน 600 ล้านบาท เป็น 900 ล้านบาทในปี 2560 และปี 2561 เพิ่มเป็น 1,200 ล้านบาท โดย สปสช.เน้นทำงานร่วมกับ อปท.และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ ซึ่งมีการเดินหน้าอย่างมั่นคงมาแล้วในรูปแบบของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบลหรือกองทุนสุขภาพตำบล

“ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยารทร มองเรื่อง LTC เป็นงานอนาคตที่สำคัญของไทยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งไทยได้คำตอบแล้วว่าจะใช้ชุมชนเป็นฐานในการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่ต้องมีการใช้บริการสาธารณสุขมากขึ้น” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ในส่วน 2 ปีที่ผ่านมาและปีงบประมาณ 2561 นี้ เป็นปีที่ 3 ก็มีการพัฒนาและทดลองดำเนินการในบางพื้นที่ บางพื้นที่ก็ดำเนินการไปได้ดี บางพื้นที่ยังติดปัญหาบางอย่าง ซึ่งก็ต้องช่วยกันแก้ไขและพัฒนาต่อไป แต่ได้เห็นว่าการใช้ท้องถิ่นหรือชุมชนเป็นฐาน ตอบโจทย์สังคมไทยได้ สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ดังนั้นเมื่อมีการเดินหน้าในเชิงระบบแล้ว ต่อไปก็ต้องขยายให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยต้องอาศัยทรัพยากรในพื้นที่จากทุกหน่วยงานมาบูรณาการไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, อปท. และภาคประชาชน

ด้าน พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ประธาน อปสข.เขต 11 สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงาน LTC ในพื้นที่ประสบผลสำเร็จนั้น พบว่าปัจจัยภายนอกเข้ามามีส่วนเยอะมาก โดยเฉพาะหน่วยงานตรวจสอบมีผลมาก ซึ่งทาง อปสข.พยายามแก้ในจุดนี้ เพื่อทำให้การขับเคลื่อนงาน LTC เดินหน้าไปได้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับพื้นที่โดยตรง

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน LTC ในเขต 11 ที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด (ชุมพร, ระนอง, กระบี่, พังงา, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช และภูเก็ต) มีกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลของ อปท.เข้าร่วมงาน LTC 266 แห่ง จาก อปท.ทั้งหมด 559 แห่ง โดยทั้ง 266 แห่งที่เข้าร่วมงาน LTC นั้น ดูแลผู้สูงอายุ 11,305 ราย งบประมาณ 56.5 ล้านบาท