ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอจรัล” เผย “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก” ก้าวย่างสำคัญของไทย มุ่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” สร้างความสมดุลผู้ให้และรับบริการ หลังก้าวข้ามประเด็น “สิทธิ” และ “ความยั่งยืน” ส่งผลการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทยอยู่ระดับแถวหน้าของโลก

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกล่าวเนื่องในวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก (Universal Health Coverage Day: UHC) วันที่ 12 ธันวาคม ว่า การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกก่อนปี 2543 เป็นยุคของการเดินหน้าให้คนไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า นำมาสู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขมูลฐานเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค อาทิ การพัฒนาสุขาภิบาลในด้านต่างๆ เช่น น้ำ อาหาร และพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งในด้านการรักษาพยาบาลในช่วงนี้มีความพยายามเพื่อช่วยเหลือคนยากจนที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพโดยใช้ระบบอนาถา ช่วงต่อมาเป็นการพัฒนาระบบประกันสุขภาพเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาในกลุ่มที่มีอุปสรรค โดยมีโครงการบัตรสุขภาพ 500 บาทให้กับประชาชนที่สนใจ ก่อนเข้าสู่ในช่วงที่ 3 ยุคการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศคือการมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และจัดตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” กำหนดให้คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น

นพ.จรัล กล่าวว่า การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วงที่ 3 ไม่เพียงทำให้คนไทย 48 ล้านคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพรองรับเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง แต่ยังช่วยสร้างความเท่าเทียมด้านสุขภาพ เพราะทำให้คนยากจนได้รับการดูแลรักษาจากสิทธิประโยชน์ต่างๆ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพที่ใกล้เคียงกับระบบสวัสดิการข้าราชการและระบบประกันสังคม ขณะเดียวกันช่วยให้คนไทยไม่ต้องล้มละลายจากภาวะความเจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะจากกลุ่มโรคค่าใช้จ่ายสูง ทำให้วันนี้สิทธิการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของคนไทย หากเปรียบเทียบกับนานาประเทศถือว่าเราอยู่ในระดับแถวหน้าของโลก

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในช่วง 15 ปี ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะทำให้คนไทยมีสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพได้ แต่ที่อภิปรายกันมากคืองบประมาณสนับสนุน ซึ่งเชื่อว่าจะไม่กระทบจนถึงขั้นทำให้การเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีปัญหาได้ เพราะคนไทย 48 ล้านคนได้ประโยชน์จากระบบนี้ จากการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุข ดังนั้นก้าวต่อไปคือต้องจัดโครงสร้างระบบให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการสุขภาพ โดยใช้กลไกใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 การรับฟังความเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่จะนำสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงการยกระดับการให้และรับบริการ การพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่างๆ นำมาสู่ความยั่งยืนของระบบ

“เชื่อว่าวันนี้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่มีวันยกเลิกได้ เพราะเป็นนโยบายที่ประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนอย่างแท้จริงและมากที่สุด เป็นหลักประกันชีวิตมั่นคงและยั่งยืนที่รัฐให้กับประชาชน ทั้งยังเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมดำเนินงานกองทุน ขณะเดียวกันประชาชนมองว่าเรื่องนี้เป็นสวัสดิการที่ต้องได้รับจากภาครัฐ เพียงแต่ต้องร่วมกันพัฒนายกระดับโดยใช้กลไกการรับฟังความเห็นเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน” นพ.จรัล กล่าว

นพ.จรัล กล่าวต่อว่ สำหรับวัน UHC Day นับเป็นก้าวย่างสำคัญ แม้ว่าวันนี้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยได้ก้าวข้ามประแด็นการมีสิทธิและความยั่งยืนของระบบแล้ว เพียงแต่ทำอย่างไรให้การมีสิทธิและความยั่งยืนนี้ดำเนินไปอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน เกิดความสมดุลระหว่างผู้ให้และรับบริการในระบบ ซึ่งจากการทำหน้าที่ในฐานะประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ จากการรับฟังความเห็นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายต่างต้องการยกระดับและพัฒนาให้ระบบมีคุณภาพและมาตรฐานเช่นเดียวกัน ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันจากนี้ต่อไป