ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.เปิดตัวโรงพยาบาลต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพ 4 ภาค “รพ.รามาธิบดี-รพ.สุราษฎร์ธานี-รพ.พะเยา-รพ.สุรินทร์” ประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบด้านการจัดบริการอาหารสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม เผยช่วย 4 ลด “ลดการเกิดโรค-ลดภาวะแทรกซ้อน-ลดการตาย-ลดภาระค่าใช้จ่าย ในกลุ่มโรควิถีชีวิต ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดสมอง และไตเรื้อรัง เตรียมขยายโรงพยาบาลต้นแบบอีก 12 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2561

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 : อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดงานแถลงข่าว “ความสำเร็จในการจัดกิจกรรมโรงพยาบาลต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดบริการอาหารสุขภาพลดหวานมันเค็ม 4 ภาค”

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส.ได้ผลักดันการลดการบริโภคอาหารสุขภาพลดหวานมันเค็ม เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในโรงพยาบาล จึงได้จัดโครงการ “พัฒนาต้นแบบโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพในด้านการจัดบริการอาหารสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม” โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายทั้งประชาชนที่มารับบริการในโรงพยาบาลและบุคลากรโรงพยาบาล เพื่อสร้างเสริมสุขภาพต้นแบบ ในการลดหวานมันเค็ม ที่เกิดจากการสร้างพลังและการมีส่วนร่วมของบุคลากรในโรงพยาบาลและชุมชน โดยประกอบด้วยโรงพยาบาลต้นแบบ จำนวน 4 แห่ง แบ่งเป็น 4 ภาค ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี (ภาคกลาง) โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี (ภาคใต้) โรงพยาบาลพะเยา (ภาคเหนือ) และโรงพยาบาลสุรินทร์ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เพื่อกำหนดเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาลดปัญหาโรควิถีชีวิตที่สำคัญ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดสมอง และไตเรื้อรัง ใน 4 ด้าน คือ ลดการเกิดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการตาย ลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งในปีหน้าจะเพิ่มเติมโรงพยาบาลต้นแบบอีกจำนวน 12 แห่งทั่วประเทศ

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นนโยบายที่จะบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้เกิดนโยบายและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพ ทั้งในโรงพยาบาล และสังคม เพื่อให้บุคลากร นักศึกษา ผู้รับบริการและญาติ รวมถึงประชาชนทั่วไป มีสุขภาพที่ดีและเกิดสังคมสุขภาวะ ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกอาหารสุขภาพที่เข้าถึงง่าย การสร้างความมีส่วนร่วมทั้งในระดับหน่วยงานและบุคคล เพื่อให้เกิดความตระหนักและเพิ่มทักษะในการเลือกอาหารสุขภาพ จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมช่วยกัน นำไปสู่การเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ ตลอดจนการรณรงค์เพื่อสร้างกระแสให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและยกระดับคุณภาพของแต่ละโรงพยาบาลและชุมชน ส่งผลให้คนไทยลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มการออกกำลังกาย ลดภาวะเครียด ซึ่งคาดว่าทำให้เกิดการจัดการอาหารที่ปลอดภัย เกิดมาตรการทางสังคม มีปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพต้นแบบในการลดหวานมันเค็มที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของบุคลากรในโรงพยาบาลและชุมชน

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ

ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ที่ปรึกษาโครงการโรงพยาบาลต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดบริการสุขภาพลดหวานมันเค็ม กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ บริโภคอาหารที่ไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกายบริโภคมากเกินความพอดี บริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัย ขาดการออกกำลังกายและมีภาวะเครียดจนส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในหลาย ๆ โรค โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคมะเร็ง เบาหวานและความดัน ซึ่งกำลังเป็นภาวะวิกฤตระดับโลก (Global Crisis) โครงการ “พัฒนาต้นแบบโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพในด้านการจัดบริการอาหารสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม” ได้วางกรอบการทำงานแบ่งเป็น 4 ภาค จำนวน 4 โรงพยาบาลนำร่อง ขึ้นในปีนี้ โดยเริ่มต้นของการทำงานจะต้องเข้าไปทำความเข้าใจกับฝ่ายโภชนาการของโรงพยาบาลต้นแบบทั้ง 4 แห่งก่อน โดยแยกเป็นกลุ่มที่ 1 ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ทั่วไป กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้ปรุงอาหาร ประกอบด้วย โภชนากร แม่ครัวในกลุ่มงานโภชนาการ และกลุ่มแม่ครัวร้านสวัสดิการโรงพยาบาล โดยทุกกลุ่มจะต้องร่วมกันวางแผนกับนักโภชนาการ ว่าทำอย่างไรจะต้องลดความหวานมันเค็ม ลง แต่รสชาติของอาหารจะยังคงเหมือนเดิม จึงใช้วิธีการปรับสูตรอาหาร การฝึกอบรมแม่ครัว ประจำร้านค้าในโรงพยาบาล และมีการฝึกอบรมในเชิงปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยมีนักโภชนาการคอยดูแล และให้คำปรึกษา

“โจทย์ คือ ร้านค้าแต่ละร้าน จะต้องสร้างเมนูเพื่อสุขภาพขึ้นมา 1 ชนิด ตามหลักโภชนาการลดความหวานมันเค็ม โดยเรียกว่า “ 1 ร้าน 1 เมนูสุขภาพ” ยกตัวอย่าง กรณีร้านขายข้าวมันไก่ จะเป็นเมนูลักษณะของเนื้อไก่ไม่ติดมัน ส่วนน้ำซุป จะลดการใส่เกลือหรือน้ำปลา หรือทำอย่างไรก็ได้ให้ลดความเค็มลง ในครั้งแรกอาจจะลดเพียงแค่ 5 % แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลตอบรับจากประชาชนที่มารับประทานอาหารที่โรงพยาบาลนั้นดีมาก ๆ แถมมีการลดราคาค่าอาหารให้ด้วย ถ้าสั่งเมนูเพื่อสุขภาพลดหวานมันเค็ม จะลดราคาให้ 2 บาท ทำให้ประชาชนผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น”

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงในประชากรอายุ 15 ขึ้นไป สูงขึ้นมาก ทั้งยังพบว่ามีอัตราการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตวาย เพิ่มขึ้นอย่างมาก โครงการ “พัฒนาต้นแบบโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพในด้านการจัดบริการอาหารสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม” ได้เข้ามามีส่วนสร้างระบบการจัดการบริการอาหารสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกบริโภคอาหารสุขภาพ รณรงค์สร้างกระแสให้ประชาชนรับรู้ ให้หันมาเลือกบริโภคอาหารสุขภาพลดหวาน มัน เค็ม เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงอาหารสุขภาพ และสามารถเป็นแบบอย่างให้กับโรงพยาบาลและสถานบริการของรัฐอื่น ๆ ต่อไป