ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกฯ “พล.อ.ฉัตรชัย” รุกบูรณาการระบบสุขภาพประเทศ ประชุมร่วม 6 หน่วยงานด้านสุขภาพ ภาพรวมปี 62 งบกว่า 3.2 แสนล้านบาท เน้นย้ำ “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม เข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน”

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ

ที่ทำเนียบรัฐบาล – เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 เวลา 14:00 น. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 คณะที่ 5 องค์ประกอบที่ 5.2 การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ ครั้งที่ 1 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เข้าร่วม อาทิ กรมบัญชีกลาง, สำนักงานประกันสังคม (สปส.), สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.), สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.), สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพประชาชนที่เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับ ทั้งการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุข การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยเน้นการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียม ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันบูรณาการการทำงานร่วมกัน ไม่เพียงแต่ทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐาน แต่ต้องดูแลประชาชนไม่ให้ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วย

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกันของ 6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ เป็นกลไกสำคัญในประสานการทำงานร่วมกัน ทั้งการบูรณาการบริหารจัดการและงบประมาณร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดแก่ประชาชน ซึ่งการประชุมวันนี้ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาและเห็นชอบ “กรอบแนวทางและข้อเสนอแผนและงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2562 แผนงานบูรณาการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ” เพื่อนำเสนอต่อสำนักงบประมาณต่อไป โดยในปี 2562 ภาพรวมงบประมาณของทั้ง 6 หน่วยงานด้านสุขภาพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 320,134.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 27.07 ดำเนินการใน 2 ส่วน ดังนี้

1.การพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ จำนวน 439.077 ล้านบาท มี 3 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการ, โครงพัฒนาเพื่อสร้างความเป็นธรรม ประสิทธิภาพ และความยั่งยืนด้านการเงินการคลัง และโครงพัฒนาเพื่อสร้างความกลมกลืนของการบริหารจัดการ

2.การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับสิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ประมาณ 66.56 ล้านคน รวมทั้งบริการการแพทย์ฉุกเฉินของทุกสิทธิ จำนวน 319,695.17 ล้านบาท โดยมีโครงการสำคัญ 2 โครงการ ประกอบด้วย

2.1 โครงการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับกลุ่มเป้าหมายฯ 317,884.29 ล้านบาท

2.2 โครงการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1,810.89 ล้านบาท

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า นอกจากด้านการรักษาพยาบาลแล้ว ในที่ประชุมยังได้เน้นย้ำด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญ เนื่องจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งการเจ็บป่วยและการรักษาย่อมมีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมถึงงบประมาณ ดังนั้นหากเป็นไปได้อยากให้ทุกหน่วยงานเน้นย้ำในเรื่องนี้ควบคู่กันไปด้วย