ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รู้จัก “โรคสมาธิสั้น”

โรคสมาธิสั้น เป็นโรคที่เกิดจากความบกพร่องของพัฒนาการ ในประเทศไทยพบความชุกของโรคในเด็กนักเรียนชั้น ป.1-5 ถึงร้อยละ 8.1 ประมาณการได้ว่ามีเด็กนักเรียนชั้น ป.1-5 ทั่วประเทศป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นถึง 1 ล้านคน และมักพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ในอัตราส่วน 3:1 และหากไม่ได้รับการวินิจฉัย รักษา และปรับพฤติกรรมอย่างถูกต้อง เด็กจะมีโอกาสไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน เกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุมากกว่าเด็กปกติ มีปัญหาการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น ฯลฯ ส่งผลเป็นปัญหาระยะยาว เช่น กลายเป็นคนต่อต้านสังคม มีความเสี่ยงติดยาเสพติด เกิดภาวะซึมเศร้า

“สมาธิสั้น” กับ “เด็กซน” ต่างกันอย่างไร ?

ลักษณะอาการของเด็กสมาธิสั้นต่างจากเด็กซน โดยพฤติกรรมของเด็กสมาธิสั้นแบ่งเป็นกลุ่มอาการหลัก ดังนี้

• กลุ่มอาการขาดสมาธิ เช่น เหม่อลอย ขี้ลืม ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น วอกแวกง่ายจากสิ่งเร้าต่างๆ เป็นต้น

• กลุ่มอาการอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น เช่น มักยุกยิกอยู่ไม่สุข ปีนป่าย พูดมาก พูดแทรก อดทนรอคอยไม่ได้ เป็นต้น

3 ผลกระทบ “โรคสมาธิสั้น”

ผลต่อตัวเด็ก

ทำให้มีปัญหาด้านการเรียน สัมพันธภาพทางสังคม รวมไปถึงการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย อาจส่งผลในระยะยาวต่อพัฒนาการในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ได้ เช่น มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม ติดยาเสพติด เกิดภาวะซึมเศร้า

ผลต่อครอบครัว

ทำให้เกิดภาวะความเครียดในครอบครัวสูงขึ้น บุคคลในครอบครัวเสียโอกาสในอาชีพการงาน เนื่องจากใช้เวลาไปกับการดูแลเด็ก ขาดความสงบสุข และอาจนำไปสู่ปัญหาการหย่าร้างได้มากขึ้น

ผลต่อประเทศ

ทำให้ประเทศเกิดการสูญเสียทรัพยากรบุคคลจากโรคสมาธิสั้นในวัยเด็ก และงบประมาณในการดูแลรักษา

ข้อมูลจาก : คู่มือการคัดกรองและปรับพฤติกรรมเด็กที่มีอาการสมาธิสั้น สำหรับผู้ปกครอง ส่วนหนึ่งของผลงานวิจัย การพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กโรคสมาธิสั้นแบบบูรณาการระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปกครอง และครู ในเขตภาคเหนือ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

ดาวน์โหลดคู่มือฯ และงานวิจัยของ สวรส. คลิก http://kb.hsri.or.th

หรือสามารถค้นหาและดาวน์โหลดสื่อข้อมูลความรู้เพิ่มเติมได้ทางเว็ปไซต์ www.adhdthailand.com และ www.hsri.or.th

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สมาธิสั้น-อนาคตยังไม่สั้น ถ้าป้องกันและรักษาอย่างถูกทาง

“พ่อแม่เข้าใจ” จุดเริ่มต้นใหญ่ของการแก้ปัญหาเด็กสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้น : เป็นได้ เปลี่ยนได้ ถ้าปรับพฤติกรรม