ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพ กว่า 9.6 แสนคน สนช.เห็นชอบในหลักการและเหตุผลวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.การกลับเป็นผู้ประกันตนแล้ว

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 61 ในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. ... ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอโดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุมฯ โดยเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้ผู้ประกันตน “ซึ่งความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงเนื่องจากขาดส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือน หรือส่งเงินไม่ครบ จำนวนเป็นเวลา 9 เดือน ในระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งทำให้ขาดจากการเป็นผู้ประกันตน และไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ หากมีความประสงค์ที่จะกลับมาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จะต้องยื่นคำขอผ่านสำนักงานประกันสังคมภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้”

ซึ่งในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติการกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. ... เพื่อคืนสิทธิให้กับผู้ประกันตนมาตรา 39 แล้ว อย่างไรก็ตามต้องมีการพิจารณารายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติอีกครั้ง ซึ่งผลความคืบหน้าสำนักงานประกันสังคมจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป

นายสุรเดช กล่าวต่อว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็น 1 ในนโยบายเร่งด่วนของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สำนักงานประกันสังคมเร่งให้ความช่วยเหลือกรณีผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน จากการขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน และภายใน 12 เดือน ซึ่งมีอยู่ในขณะนี้ 9.6 แสนคน ให้ได้รับความคุ้มครองและหลักประกันเช่นเดิม

เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกันการสิ้นสภาพของผู้ประกันตนมาตรา 39 จึงขอให้ผู้ประกันตนให้ความสำคัญในการตรวจสอบการนำส่งเงินสมทบด้วยตนเองกับสำนักงานประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอ และควรนำส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง หากผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน จะสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th