ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ระบุพบความพิการในทารกแต่กำเนิดที่พบบ่อยที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แขนขาพิการ ปากแหว่งเพดานโหว่ และกลุ่มอาการดาวน์ ตามลำดับ โดยความพิการแต่กำเนิดประมาณ 70% ป้องกันและรักษาให้หายขาดได้

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ได้ประสาน กรมอนามัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนงานป้องกันดูแลและรักษาทารกและเด็กพิการแต่กำเนิดระดับประเทศ โดยผ่านความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการรวบรวมแผนงานในการดูแลรักษาปัญหาเด็กพิการแต่กำเนิดของไทย เพื่อสร้างเครือข่ายสุขภาพทารกแรกเกิดและฐานข้อมูล ทราบถึงสภาพความเป็นจริงของปัญหาความพิการแต่กำเนิดในไทย สามารถต่อยอดพัฒนาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาภาวะพิการแต่กำเนิดได้รับการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

"วันที่ 3 มี.ค.ของทุกปีคือ วันทารกและเด็กพิการแต่กำเนิดโลก โดยความสำคัญของวันดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนและผู้กำหนดนโยบาย ได้ตระหนักว่าความพิการแต่กำเนิดเป็นปัญหาที่รุนแรง เพราะอาจทำให้เด็กมีภาวะตั้งแต่พิการและรุนแรงสูงสุดถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นจึงต้องการกระตุ้นให้ประชาชนได้ตระหนักที่จะป้องกันโดยจะเน้นใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ทำให้ประชาชนได้ตระหนักว่าปัญหาเด็กพิการแต่กำเนิดเป็นปัญหาที่รุนแรง 2.สนับสนุนให้มีการสำรวจข้อมูลความพิการในทารกเพื่อให้รู้ถึงปัญหา 3.สนับสนุนให้มีการป้องกัน และ 4.การให้การรักษาร่วมกับการทำวิจัย”

นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้สำรวจความพิการแต่กำเนิดในทารกทั่วโลกพบว่า มีทารกพิการแต่กำเนิด 3-5% หรือปีละประมาณ 8 ล้านคน จากทารกที่คลอดประมาณ 130 ล้านคนต่อปี โดยความพิการแต่กำเนิดแบ่งได้ เป็น 2 ส่วน คือ 1.ความพิการทางด้านโครงสร้างของร่างกาย เช่น คลอดออกมาแล้วเป็นโรคหัวใจ ปากแหว่งเพดานโหว่ แขนขาขาด และ 2.ความพิการของการทำงานในหน้าที่และภาวะร่างกาย เช่น มีภาวะต่อมไทรอยด์บกพร่องหรือกลุ่มโรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภาวะพิการแต่กำเนิดถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้อง ได้รับการแก้ไข และจากการที่ WHO รณรงค์ให้ทั่วโลกทำการเก็บข้อมูลความพิการแต่กำเนิด ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ฐานข้อมูลของ สปสช.เก็บข้อมูลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข 77 จังหวัด มีการเปิดลงทะเบียนเด็กพิการแต่กำเนิดเพื่อดูว่ามีมากน้อยเพียงใด พบว่าในปี 2559 ที่ผ่านมาจากข้อมูลเด็กแรกเกิดที่มีชีวิตจำนวน 554,616 คน คิดเป็น 78.77% ของทารกแรกเกิดทั้งประเทศ พบภาวะพิการแต่กำเนิดของทารก 2.02% คิดเป็น 11,203.24 รายของเด็กเกิดมีชีพ มีทารกคลอดทั้งสิ้น 704,058 คน จำนวนเด็กเกิดมีชีพปี 2559

"ความพิการในทารกแต่กำเนิดที่พบบ่อยที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แขนขาพิการ ปากแหว่งเพดานโหว่ และกลุ่มอาการดาวน์ ตามลำดับ ทั้งนี้ความพิการแต่กำเนิดปัจจุบันส่วนใหญ่ประมาณ 70% สามารถป้องกันและรักษาให้หายขาด รวมถึงฟื้นฟูให้เด็กสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ มารดายังมีส่วนช่วยไม่ให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ด้วย การรับประทานโฟเลตในช่วงก่อนตั้งครรภ์ รวมถึงการให้วัคซีนมารดาที่กำลังตั้งครรภ์ และลดภาวะปัจจัยเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น" นพ.สมเกียรติ กล่าว