ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เร่งขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ รองรับการปฏิรูประบบสาธารณสุข ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ เพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็น ส่งเสริมใช้ยาสมเหตุผล และพัฒนาระบบควบคุมยาให้บรรลุเป้าหมายภายใน 5 ปี ค่าใช้จ่ายด้านยาลดลงอย่างน้อย 20,000 ล้านบาท

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2561 ณ ทำเนียบรัฐบาล ว่า ในช่วง 2 ปีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะกรรมการฯ มีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน โดยปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างต่อเนื่องจำนวน 4 ฉบับ ที่สำคัญได้แก่ ยารักษาตับอักเสบซีชนิดรับประทานที่มีประสิทธิภาพสูงและผลข้างเคียงน้อย, ยารักษาเอชไอวีที่ดื้อยาสูตรมาตรฐาน, วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก และยารักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เพิ่มโอกาสให้หายขาดได้ เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงราคากลางยาให้ทันสมัย 667 รายการ ส่งผลให้ประหยัดงบประมาณในปี 2559-2560 ไปแล้วกว่า 17,000 ล้านบาท รวมทั้งผลักดันให้มียาสามัญทดแทนยาต้นแบบ ทำให้เพิ่มการเข้าถึงยาใน 6 กลุ่มโรคสำคัญ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านยาลดลงไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้เร่งผลักดันนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและลดปัญหาเชื้อดื้อยา ทั้งในส่วนผู้ประกอบวิชาชีพและประชาชน โดยประกาศนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา รวมทั้งพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลสู่งานประจำ

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าค่าใช้จ่ายด้านยามีมูลค่าถึง 160,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 41 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ในด้านความมั่นคง พบว่าร้อยละ 40 ของยาในบัญชียาหลัก ยังผลิตไม่ได้ในประเทศ ประเทศยังคงเผชิญวิกฤติเชื้อดื้อยาจากการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างไม่สมเหตุผลทั้งในสถานพยาบาล ชุมชนและภาคเกษตรกรรม คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยา 5 ด้าน รองรับการปฏิรูประบบสาธารณสุข ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเน้นการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ เพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นควบคู่กับการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และพัฒนาระบบควบคุมยาให้มีประสิทธิภาพระดับสากล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใน 5 ปี ค่าใช้จ่ายด้านยาลดลงอย่างน้อย 20,000 ล้านบาท มีฐานข้อมูลด้านยาที่เข้าถึงง่าย เป็นปัจจุบัน ถูกต้อง น่าเชื่อถือ ในทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะประชาชน และผู้ใช้ยา และหน่วยงานควบคุมยาผ่านการประเมินศักยภาพจากองค์การอนามัยโลก

พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า จะเร่งนำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศใช้ คู่ขนานไปกับการทำงานของคณะกรรมการฯ ในการประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ไปพลางก่อน